“รถไฟพระที่นั่ง” ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของการรถไฟไทยแห่งประเทศไทย

เมื่อ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีประทับรถไฟเสด็จพระราชดำเนินในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีทอดพระเนตรวิถีชีวิตชุมชน ระหว่างวันที่ 16-18 ต.ค. 2558 พสกนิกร 3 จังหวัดรายทางต่างปลื้มปีตีเฝ้ารอรับเสด็จอย่างคับคั่งด้วยความจงรักภักดี

โดยปกติแล้วเมื่อพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์จะเสด็จพระราชดำเนินทางรถไฟ ทางกรมรถไฟหลวง(หรือการรถไฟแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน) จะถวายรถไฟพระที่นั่ง เพื่อให้พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินโดยเฉพาะ

การเสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟครั้งแรกในประวัติศาสตร์สยามคือ การเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดทางรถไฟปฐมฤกษ์ กรุงเทพ – กรุงเก่า(อยุธยา)  โดยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2439

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯบางปะอินโดยทางรถไฟอีกหลายครั้ง ตลอดจนการเสด็จเพื่อเปิดเส้นทางรถไฟในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นแปดริ้ว, นครราชสีมา, เพชรบุรี

ในช่วงแรกไม่ปรากฏหลักฐานว่ากรมรถไฟหลวงได้จัดซื้อรถพระที่นั่งมาเมื่อใด แต่ลักษณะของรถพระที่นั่งทั้ง 2 คันเป็นรถ 2 เพลา(รถ4ล้อ) จำนวน 1 คัน และเป็นรถขนาด 8 ล้อ อีก 1 คัน สำหรับทางกว้าง 1.435 เมตร (สายเหนือ,สายตะวันออก,สายตะวันออกเฉียงเหนือ) และสำหรับเส้นทางสายใต้ ซึ่งเป็นทางกว้างขนาด 1.000 ม. จะเป็นรถพระที่นั่งแบบ 4 ล้อ จำนวน 1 คัน ใช้การมาจนถึงปี 2460

ต่อมาใน พ.ศ.2469 กรมรถไฟหลวงได้จัดซื้อรถพระที่นั่งบรรทมเพิ่ม 1 คัน และรถพระที่นั่งกลางวันอีก 1 คัน เพื่อน้อมเกล้าถวายเป็นพระราชพาหนะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยรถพระที่นั่งทั้ง 2 คันที่จัดซื้อในปี 2469 นั้นเป็นรถโดยสาร 8 ล้อ(แบบโบกี้) สำหรับทางกว้าง 1.000 ม. เนื่องจากในขณะนั้นทางรถไฟทั่วประเทศได้เป็นทางกว้างขนาด 1.000 ม. แล้ว

ตัวรถพระที่นั่งสร้างด้วยไม้อย่างวิจิตรบรรจง การตกแต่งภายในสวยงามตระการตา โดยสมเด็จในกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน(พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาทรงเป็นต้นตระกูล “บุรฉัตร”) ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟในขณะนั้น ทรงแนะนำการออกแบบเบื้องต้นโดยละเอียด และดำเนินการสร้างโดยบริษัท the Metropolitan Carriage Wagon & Finance Company Limited, Manchester England และได้นำมาใช้เป็นราชพาหนะจนถึง วันที่ 7 ตุลาคม 2511 จึงเลิกใช้การ รวมอายุการใช้งานทั้งสิ้น 52 ปี

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2503 ในรัชกาลปัจจุบัน ทางการเห็นสมควรจัดหารถพระที่นั่งใหม่จำนวน 3 คัน เพื่อทดแทนรถพระที่นั่ง 2 คันแรกที่ปลดระวางไป โดยทั้ง 3 คัน ประกอบด้วย

1. รถพระที่นั่งประทับกลางวัน (พนก.) : His Majesty’s Day Saloon

2. รถพระที่นั่งกลางวันและบรรทม (พกท.) : Royal Day and Night Saloon

3. รถพระที่นั่งบรรทม (พนท.) : His Majesty’s Royal Night Saloon)

โดยรัฐบาลได้มอบให้การรถไฟฯ ดำเนินการจัดหาในปีพ.ศ.2506 และบริษัทผู้สร้างคือบริษัท คราเวนส์ (Cravens) แห่งประเทศอังกฤษ ภายในรถตกแต่งด้วยเครื่องเรือนและเครื่องประดับที่วิจิตรงดงามเช่นเดียวกับรถพระที่นั่ง 2 คันแรก โดยรถพระที่นั่งกลางวัน และรถพระที่นั่งบรรทม มีรูปแบบการตกแต่งคล้ายคลึงกับคันเดิม รวมมูลค่าก่อสร้าง 695,030 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 14 ล้านบาท(ในขณะนั้น)

รถไฟพระที่นั่งทั้ง 3 คันติดตราครุฑตู้ละ 4 ตัว ทำจากทองทำเปลวแท้ ตัวตู้รถไฟใช้สีเหลืองไข่ไก่สีเข้มและอ่อนไล่สีอย่างสวยงาม สร้างด้วยเหล็กชนิดเบา ใช้แคร่รับน้ำหนักที่ทันสมัย สามารถใช้ความเร็วได้ถึง 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง

การรถไฟฯ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายรถพระที่นั่งชุดใหม่ทั้ง 3 คัน เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2510 เวลา 12.00น.  และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประทับจากสถานีชุมทางทุ่งสง ถึง สถานีหัวหิน ในคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรในจังหวัดภาคใต้เป็นปฐมฤกษ์ และทรงใช้เป็นพระราชพาหนะเสด็จฯเยี่ยมราษฎร ในถิ่นทุรกันดารทั่วทุกภาคของประเทศไทยมานับแต่นั้น

ประวัติการเสด็จพระราชดำเนินทางรถไฟ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีดังนี้

ครั้งที่ 1 : 29 เมษายน 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จประทับพักผ่อนอิริยาบท ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นเวลา 5 วัน พร้อมด้วยคณะผู้ติดตามเสด็จ

ครั้งที่ 2 : 12 ธันวาคม 2496 เสด็จฯ เปิดสะพานพระราม6 (พระนคร) หลังซ่อมบำรุงจากสภาวะสงคราม

ครั้งที่ 3 : 18 พฤษภาคม 2498 เสด็จฯแปรพระราชฐาน ไปประทับแรม ณ พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

ครั้งที่ 4 : 2-20 พฤศจิกายน 2498 เสด็จฯ เยี่ยมพสกนิกร จังหวัดต่างๆในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ครั้งที่ 5 : 7 กุมภาพันธ์ 2500 เสด็จฯ ทรงเปิดเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท

ครั้งที่ 6 : 18 มีนาคม 2500 เสด็จฯ แปรพระราชฐาน ณ พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

ครั้งที่ 7 : 27 กุมภาพันธ์ – 18 มีนาคม 2501 เสด็จฯ ทรงเยี่ยมพสกนิกร จังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ

ครั้งที่ 8 : 6-28 มีนาคม 2502 เสด็จฯ ทรงเยี่ยมพสกนิการ จังหวัดต่างๆ ในภาคใต้

ครั้งที่ 9 : 7 เมษายน 2502 เสด็จฯ แปรพระราชฐาน ณ พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

ครั้งที่ 10 : 16 เมษายน 2504 เสด็จฯ ทรงต้อนรับประธานาธิบดี ซูการ์โน แห่งประเทศอินโดนีเซีย จาก ดอนเมือง – จิตรลดา

ครั้งที่ 11 : 8 มิถุนายน 2504 เสด็จฯ นิวัติพระนคร จากพระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน

ครั้งที่ 12 : 8 ธันวาคม 2504  ทรงต้อนรับประธานาธิบดี อาร์เจนตินา ที่สถานีจิตรลดา (ไม่ได้ประทับบนรถไฟพระที่นั่ง)

ครั้งที่ 13 : 12 มกราคม 2505 เสด็จฯ ทรงต้อนรับสมเด็จพระเจ้าเฟร์เดริคที่ 9 แห่งเดนมาร์ค และสมเด็จพระราชินีอินกริด จากสถานีดอนเมือง – จิตรลดา

ครั้งที่ 14 : 15 มกราคม 2505 เสด็จฯ นำสมเด็จพระเจ้าเฟร์เดริคที่ 9 แห่งเดนมาร์ค และสมเด็จพระราชินีอินกริด ไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อทอดพระเนตรโบราณสถาน และการคล้องช้างในเพนียด

ครั้งที่ 15 : 16 มกราคม 2505 เสด็จฯ นำสมเด็จพระเจ้าเฟร์เดริคที่ 9 แห่งเดนมาร์ค และสมเด็จพระราชินีอินกริด ไปยัง อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เพื่อทรงเปิดฟาร์มโคนม ไทย-เดนมาร์ค

ครั้งที่ 16 : 26 มีนาคม 2506 เสด็จฯ แปรพระราชฐาน ประทับแรม ณ พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน

ครั้งที่ 17 : 2 พฤษภาคม 2506 เสด็จฯ นิวัติพระนคร จากพระราชวังไกลกังวล

ครั้งที่ 18 : 26 ตุลาคม 2506 เสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐิน และทรงเยี่ยมพสกนิกร จ.กาญจนบุรี (การรถไฟฯถวายรถดีเซลรางเป็นขบวนพิเศษพระที่นั่ง)

ครั้งที่ 19 : 16 พฤศจิกายน 2508 เสด็จฯ พระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดแก้วพิจิตร จ.ปราจีนบุรี

ครั้งที่ 20 : 19 มีนาคม 2508 เสด็จฯ ประทับแรม ณ พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน

ครั้งที่ 21 : 6 มิถุนายน 2508  เสด็จฯ นิวัติพระนคร จากพระราชวังไกลกังวล

ครั้งที่ 22 : 3 มิถุนายน 2509 เสด็จฯ บำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา ณ วัดโสธรวรารามราชวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา

ครั้งที่ 23 : 3 กุมภาพันธ์ 2510 (เริ่มใช้รถพระที่นั่งคันปัจจุบัน) เสด็จฯ นิวัติจากการเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัย ทางจังหวัดภาคใต้ มาประทับแรม ณ พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน

ครั้งที่ 24 : 23 พฤษภาคม 2510 เสด็จฯ กลับจากทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา ณ วัดบรมธาตุไชยา

ครั้งที่ 25 : 22-23 พฤษภาคม 2517 เสด็จฯ ไปประทับแรม ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช ทรงเททองหล่อพระประธานวัดโคกเมรุ อ.ฉวาง และเสด็จฯ กลับไปประทับแรม ณ พระราชวังไกลกังวล

ครั้งที่ 26 : 4 สิงหาคม 2517 เสด็จฯ แปรพระราชฐาน ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จ.นราธิวาส

ครั้งที่ 27 : 25-28 สิงหาคม 2517 เสด็จฯ จากพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ไปประทับแรม ณ ที่ประทับแรม โรงปูนซีเมนต์ทุ่งสง

ครั้งที่ 28 : 22กันยายน 2517 เสด็จฯ นิวัติพระนคร จากพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์

ครั้งที่ 29 : 5 กรกฎาคม 2531 เสด็จฯ ประกอบพิธีบวงสรวงสังเวยสมเด็จพระมหากษัตริย์ในอดีต เนื่องในมหามงคลสมัยพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในเส้นทางจิตรลดา – อยุธยา อันเป็นครั้งล่าสุดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินด้วยรถไฟพระที่นั่ง

การเสด็จพระราชดำเนินทรงประทับรถไฟครั้งที่ 29 นับเป็นครั้งล่าสุดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ หลังจากนั้นรถไฟพระที่นั่งก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้งานนานหลายปี   จนกระทั่งครั้งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดทางรถไฟสายหนองคาย – ท่านาแล้ง ทางรถไฟเชื่อมระหว่างประเทศไทย – สปป.ลาว สายแรก ในวันที่ 5 มีนาคม 2552 พระองค์ได้ประทับรถไฟพระที่นั่งอีกครั้งหนึ่ง จากสถานีรถไฟหนองคายข้ามไปยังสถานีท่านาแล้ง เมืองหาดทรายฟอง สปป.ลาว

สำหรับการเสด็จฯ โดยรถไฟของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีก่อนหน้าการเสด็จฯจังหวัดกาญจบุรีครั้งล่าสุด มีขึ้นเมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2554 ทรงนำข้าราชการ นักเรียนนายร้อยโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ทัศนศึกษากิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เสด็จฯโดยรถไฟขบวนพิเศษ ณ สถานีรถไฟบางซื่อ ไปยังสถานีรถไฟกรุงเทพ(หัวลำโพง)

ในการเสด็จฯทอดพระเนตรวิถีชุมชนในจังหวัดกาญจนบุรีครั้งนี้ ราษฎรริมทางรถไฟต่างเตรียมตัวเฝ้ารับเสด็จอย่างคึกคัก ที่สถานีรถไฟ จ.นครปฐมมีการจำลองวิถีชีวิตชุมชนบริเวณสถานีรถไฟในอดีตด้วยการตกแต่งบรรยากาศร้านขายผัดไทย ข้าวแกงรถไฟ ไก่ย่าง หมู่ย่าง ข้าวเหนียว ถั่วต้ม มันต้ม เผือกต้ม รวมถึงผลไม้และสินค้าขึ้นชื่อของนครปฐมเพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย ได้แก่ ส้มโอ น้ำมะพร้าว และข้าวหลาม และรถไฟพระที่นั่งจะจอดให้สมเด็จพระเทพฯเสด็จพระราชดำเนินไปสักการะองค์พระปฐมเจดีย์ด้วย

บริเวณสถานีรถไฟชุมทางหนองปลาดุก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี นางปราณี หรือ ป้าน้อย เกิดจันทร์ทอง อายุ 68 ปี เจ้าของร้าน “ข้าวแกงป้าน้อย” หลังสถานีรถไฟชุมทางหนองปลาดุก ซึ่งเป็นร้านขายข้าวแกงกระทงใบตองแบบโบราณ ชนิดแบกถาดเดินขายให้กับนักท่องเที่ยวบนขบวนรถไฟมายาวนานกว่า 50 ปีได้รับเลือกให้เป็นผู้จัดเครื่องเสวยกลางวันบนรถไฟแบบกระทงใบตอง ประกอบด้วย พะแนงเนื้อ พะแนงหมู เขียวหวานไก่ และไข่พะโล้ เป็นสิริมงคลและที่ปลาบปลื้มแก่ป้าน้อยอย่างล้นพ้น

รถไฟพระที่นั่งแวะจอดที่ชุมทางหนองปลาดุกประมาณ 10 นาที เพื่อทอดพระเนตรวิถีชุมชน จากนั้นมุ่งหน้าต่อไปยังจังหวัดกาญจนบุรีซึ่งมีการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำแควเพื่อเตรียมการรับเสด็จอย่างคึกคักเช่นกัน

บันทึกการเสด็จพระราชดำเนินประทับรถไฟพระที่นั่งครั้งนี้ นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของการรถไฟไทยแห่งประเทศไทย หลังจากขบวนรถไฟพระที่นั่งชุดนี้ผ่านการใช้งานมาแล้วเกือบกึ่งศตวรรษ

 

////////////