สวนสวรรค์ “ตันสัจจา”

นี่คือเรื่องราวของการจัดดอกไม้ประดับงานศพและเมรุวัดธาตุทอง(พระอารามหลวง) ในพิธีพระราชเพลิงศพ“นางนงนุช ตันสัจจา” ผู้ก่อตั้งสวนนงนุช พัทยา เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๘

พิธีพระราชทานเพลิงศพอบอวลไปด้วยกลิ่นกรุ่นของมวลดอกไม้นานาพรรณและความงดงามอลังการของการจัดสวนประดิษฐ์ด้วยดอกไม้สดตามแนวคิด “สวนดอกไม้บนสวรรค์” ของนายกัมพล ตันสัจจา บุตรชาย ผู้ออกแบบสวนดอกไม้ให้ช่างฝีมือจำนวน ๓๐๐ คน เนรมิตประดิดประดอยขึ้นในเวลาถึง ๓ วัน ๓ คืน

นี่คือมหกรรมการจัดดอกไม้สดประดับงานศพขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยจัดขึ้นมาในประเทศไทย ใช้งบประมาณเกือบ ๑๐ ล้านและดอกไม้เป็นล้านๆดอก

เพราะ “คุณโต้ง” กัมพล ตันสัจจาต้องการให้ “เป็นงานศพที่มีแต่รอยยิ้ม ไม่มีน้ำตา”

นางนงนุช ตันสัจจา เสียชีวิตอย่างสงบด้วยโรคชรา สิริอายุได้ ๙๑ ปี เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๘  และการจัดดอกไม้ประดับศาลาสวดศพอย่างสวยสดงดงามก็เริ่มขึ้นตั้งแต่วันแรกไปจนกระทั่งถึงวันสุดท้ายซึ่งเป็นวันพระราชทานเพลิง ซึ่งทำได้อย่างยิ่งใหญ่อลังการตื่นตาตื่นใจอย่างที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อนสมกับที่เป็นผู้ก่อตั้งสวนนงนุช สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอันดับต้นๆของเมืองพัทยาและของประเทศ

นางนงนุชและสามีคือนายพิสิฐ ตันสัจจา สร้างสวนนงนุชขึ้นเมื่อพ.ศ.๒๔๙๗ โดยซื้อที่ดิน ๑,๕๐๐ ไร่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๑๖๓ ระหว่างพัทยา-สัตหีบทำเป็นสวนผลไม้ ต่อมาเมื่อได้เดินทางไปดูสวนดอกไม้ในประเทศต่างๆก็เกิดความประทับใจจึงมีแนวคิดที่จะ “จัดสวนให้คนมาเที่ยว” บ้าง จึงเปลี่ยนสวนผลไม้เป็นสวนไม้ดอกไม้ประดับ และปลูกสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกอาคาร ร้านค้า ร้านอาหาร ที่พัก สระว่ายน้ำ ฯลฯ สำหรับบริการนักท่องเที่ยวจนสามารถเปิดอย่างเป็นทางการได้ในปี ๒๕๒๓

จากนั้นอีก ๖ ปีต่อมานางนงนุช ได้มอบภารกิจการบริหารงานให้ลูกชาย คือกัมพล ตันสัจจา เป็นผู้อำนวยการสวนนงนุชมาจนถึงวันนี้

ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้าเยี่ยมชมสวนนงนุช พัทยาปีละ ๒ ล้านคน สร้างรายได้ถึง ๑,๐๐๐ ล้านบาท ภายในสวนเต็มไปด้วยสีสันอันหลากหลายของมวลดอกไม้และความร่มเย็นเขียวขจีของพืชนานาพันธุ์ที่ได้รวบรวมจากทั่วทุกมุมโลกมาจัดแสดง

          สวนนงนุชมีพันธุ์ไม้มากกว่า ๑๘,๐๐๐ ชนิด มีการจัดสวนหลากหลายแปลกตาน่าสนใจ เช่น  “สวนตุ๊กตากระถาง” ทำจากกระถางกว่า ๕ หมื่นใบ “สวนสับปะรดสี” “สวนกล้วยไม้” ที่หมุนเวียนออกดอกหอมให้ชมกันตลอดปี “สวนฝรั่งเศส” ที่จำลองสวนมาจากพระราชวังแวร์ซาย “สโตนเฮนจ์”จำลองมาจากสโตนเฮนจ์ในประเทศอังกฤษ สวนตะบองเพชรและไม้ใบอวบ สวนผีเสื้อที่มีมากกว่า ๔๐ สายพันธุ์ สวนหิน สวนพุทธรักษา สวนปาล์มโลก ซึ่งเป็นสวนที่รวบรวมพันธุ์ปาล์มจากทั่วทุกมุมโลกกว่าพันชนิด และสวนปรงกว่า ๒๘๐ ชนิด สวนบอนไซ สวนโมก สวนรถไฟจำลองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย เป็นต้น

นายกัมพลเคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าเขาจะทำให้สวนนงนุชเป็นสวนหนึ่งที่น่าเที่ยวที่สุดในโลก โดยแนวคิดในการจัดสวนของเขา คือ ความอลังการและแปลกใหม่ เพื่อสร้างสวนนงนุชให้เป็น“ดิสนีย์แลนด์ ออฟ การ์เด้น”

           

สวนนงนุชเน้นการทำงานแบบเปลี่ยนแปลงตัวเองไปตามความต้องการของลูกค้าให้เห็นความแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา โดยจัดสวนใหม่ทุก ๖ เดือน หมุนเวียนเอาพันธุ์ไม้มีค่าหายากออกมาโชว์สลับกันไป เป็นการดึงให้คนกลับมาเที่ยวได้ซ้ำๆโดยไม่เบื่อ และสามารถใช้เวลาทั้งวันได้ที่สวนนงนุชในฐานะเมืองแห่งความสุข

ตามเจตนารมณ์ของของมารดาที่ว่า

           ” ณ. ที่แห่งนี้ นงนุช ตันสัจจา ขอมอบให้เป็นมรดกทางการศึกษาแก่ชนรุ่นหลัง เพื่อเรียนรู้และพัฒนาสืบไป “

นอกจากการสร้าง ดิสนีย์แลนด์ ออฟ การ์เด้น ขึ้นในเมืองไทยแล้ว กัมพล ตันสัจจายังออกไปสร้างชื่อเสียงให้ประเทศในระดับนานาชาติด้วยการเข้าร่วมประกวดจัดสวนในงานเชลซี ฟลาวเวอร์โชว์ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในเดือนพฤษภาคมของทุกปีต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ ๖ แล้ว และผลงานการจัดสวนของเขาคว้ารางวัลชนะเลิศเหรียญทองติดต่อกันมาได้ถึง ๖ ปีซ้อน

ล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๐ พ.ค. ๕๘ สวนนงนุช พัทยาก็คว้าเหรียญทอง ในงาน Chelsea Flower Show ๒๕๑๕ อีกครั้ง เป็นการจัดสวนดอกไม้ในคอนเซ็ปต์ “คนไทยกับพระพุทธศาสนา” หรือ Thailand Land of Buddhism เน้นไปที่ความงดงามของดอกกล้วยไม้ไทยที่หลากสีสัน ซึ่งนำมาใช้ในงานนี้มากว่า ๑๐๐,๐๐๐  ดอก นับเป็นการสร้างชื่อเสียงและช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่นานาชาติ โดยเฉพาะกับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชมในความงามของดอกไม้ไทย

          สำหรับการจัดดอกไม้ในพิธีพระราชทานเพลิงศพนั้นเป็นที่กล่าวขานกันไปทั้งประเทศว่าสวยงามตื่นตาตื่นใจเป็นที่สุดเพราะใช้ดอกไม้สดทั้งสิ้น เฉพาะกุหลาบอย่างเดียว ๒ แสนดอก กล้วยไม้สกุลหวาย ๕ แสนช่อ กล้วยไม้คัทลียา ๖๕,๐๐๐ ช่อ สัปปะรดสี ๘,๐๐๐ ต้น ถือว่ายิ่งใหญ่กว่างานเชลซีโชว์ที่อังกฤษถึง ๘ เท่า 

คนที่บ้านอยู่ใกล้วัดธาตุทองแม้ไม่ได้รู้จักครอบครัว “ตันสัจจา” ต่างก็แอบไปชื่นชมการจัดดอกไม้ครั้งนี้ตั้งแต่ช่วงที่ยังมีการสวดอภิธรรมอยู่ ซึ่งเจ้าภาพก็ปล่อยให้ผู้ที่ชื่นชอบความงดงามของดอกไม้และการประดิษฐ์ดอกไม้ได้ถ่ายรูปกันอย่างเต็มที่โดยไม่มีการกีดกันแต่อย่างใด

ผู้ที่ได้เห็นต่างก็ชื่นชมว่านายกัมพลเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งด้านความกตัญญูและแนวทางจัดดอกไม้อย่างสร้างสรรค์สวยงาม ส่งเสริมดอกไม้ไทยและความเป็นไทยออกมาได้อย่างโดดเด่นมีคุณค่า ถือว่าเป็นการจัดดอกไม้งานศพระดับ Amazing Thailand เลยทีเดียว

สำหรับผู้ที่ไปร่วมประชุมเพลิงทางเจ้าภาพได้แจกหนังสืออนุสรณ์และต้นสัปปะรดสีให้เอากลับไปปลูกที่บ้าน สร้างความประทับใจอย่างยิ่ง

แขกที่ไปร่วมงานศพนอกจากได้ร่วมอำลาอาลัยผู้วายชนม์แล้ว ยังได้เรียนรู้ถึงมุมมองความคิดด้านบวกเป็นของแถมด้วย เพราะในงานมีแต่ความสวยงาม ไม่หม่นหมอง เห็นแต่รอยยิ้มของลูกหลานตระกูล “ตันสัจจา” สมกับที่ลูกหลานมีความตั้งใจที่จะทำให้คุณแม่นงนุชเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อแสดงความอาลัยรักอย่างสุดซึ้งและระลึกถึงคุณงามความดีที่ติดตัวมาตลอดชีวิต

           ภาพสวนสวรรค์อันงามตระการตาที่จำลองมาปรากฏเบื้องหน้าทุกคน ณ เมรุเผาศพแห่งนี้ ย่อมติดตาตรึงใจผู้คนเช่นเดียวกับ “สวนนงนุช” สิ่งที่คุณแม่นงนุช ตันสัจจาสร้างเอาไว้ให้เป็นมรดกของชนรุ่นหลังซึ่งจะไม่สูญหายไปตามกาลเวลาอย่างแน่นอน

นี่คือสรวงสรรค์อันงดงามของครอบครัวตันสัจจาค่ะ

 

///////