เผยแพร่ |
---|
หรูไหมคะ?
เป็นบ้านสามล้อก็จริง แต่ไม่ใช่บ้านคนจนแน่ๆ เพราะลักษณะโครงสร้าง วัสดุที่ใช้ รูปแบบความสวยงามโดยรวม น่าจะใช้เงินหลายบาทอยู่
บ้านสามล้อหลังนี้เกิดจากการทำงานร่วมกันของ 2 บริษัทสถาปนิกใหญ่ของจีน ได้แก่ People’s Architecture Office (PAO) และ People’s Industrial Design Office (PIDO) ความคิดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างบังเอิญ แต่ตั้งใจสร้างบ้านเคลื่อนที่บนยานพาหนะสามล้อแบบที่คนจีนคุ้นเคยกันเลยทีเดียว คือเป็นสามล้อชนิดใช้บรรทุกของ มีคนถีบอยู่ข้างหน้า
แนวคิดมาจากปัญหาเรื่องขาดแคลนที่อยู่อาศัยในเมืองจีน ซึ่งนับวันมีความต้องการอย่างล้นหลาม ด้วยจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกถึง 1,353,480,000 คน (สถิติประชากรโลกล่าสุดเมื่อปี ค.ศ. 2012) นอกจากจำนวนคนแล้ว ปัญหาใหญ่ที่หนักใจที่สุดในการดำรงชีวิตของชาวจีนในเมืองใหญ่ก็คือ ปัญหาค่าครองชีพและราคาอสังหาริมทรัพย์ที่แพงแสนแพงด้วยเงื่อนไขหลายประการ
บ้านกับสวนเคลื่อนที่ ออกแบบมาคู่กัน
เรื่องหนึ่งก็คือ แม้จีนจะมีแผ่นดินกว้างใหญ่ไพศาลก็จริง แต่ประชากรส่วนใหญ่ก็มักจะอยู่อาศัยแออัดกันในเมืองใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งงาน และอย่าลืมว่าแม้จะเปิดประเทศแล้ว แต่จีนก็ยังปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ประชาชนไม่มีสิทธิถือครองที่ดิน เมื่อจะใช้ประโยชน์ต้องเช่าที่ดินกับรัฐและได้สิทธิอยู่อาศัยในระยะเวลาหนึ่ง ตั้งแต่ 50-70-90 ปี มิใช่กรรมสิทธิ์ตลอดกาลเหมือนในบ้านเรา
คนจีนที่มีบ้านสวยงามปลูกบนที่ดินนั้นจะต้องมีฐานะขั้นเศรษฐี ส่วนชาวบ้านทั่วไปมักจะอาศัยคอนโดมิเนียมห้องเล็กๆ ว่ากันว่า หากมีเงินจำนวน 1 ล้านหยวน (ประมาณ 5 ล้านบาท) และมีสิทธิ์ซื้อบ้านในเมืองจีนได้ มูลค่าเงินมีมากพอจะซื้ออสังหาริมทรัพย์เรียงลำดับความแพงได้ประมาณนี้ (ข้อมูลปี 2012) เมืองเซินเจิ้น ราคาที่ดิน 25,137 หยวน ต่อตารางเมตร จะได้คอนโดมิเนียมขนาด 40 ตารางเมตรเท่านั้น แต่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง สำหรับเงิน 1 ล้านหยวนนครเซี่ยงไฮ้ ราคาที่ดิน 23,591 หยวน ต่อตารางเมตร เงิน 1 ล้านหยวน สามารถเป็นเจ้าของคอนโดมิเนียมขนาดเล็กกว่า 50 ตารางเมตร
เมื่อปรับให้เป็นเตียงนอน สบายพอสำหรับ 1 คน
กรุงปักกิ่ง ราคาที่ดิน 22,767 หยวน ต่อตารางเมตร สามารถเป็นเจ้าของคอนโดมิเนียมขนาด 2 ห้องนอน แต่มีเนื้อที่น้อยกว่า 40-50 ตารางเมตร หรือคอนโดมิเนียมมือสองเท่านั้น สำหรับเงิน 1 ล้านหยวน เมืองหางโจว ราคาที่ดิน 20,772 หยวน ต่อตารางเมตร สำหรับที่นี่ จะได้คอนโดมิเนียมขนาด 2 ห้องนอน แต่มีเนื้อที่ 40 ตารางเมตร เมืองเวินโจว ราคาที่ดิน 16,115 หยวน ต่อตารางเมตร ได้บ้านมือสองขนาด 40-50 ตารางเมตรเท่านั้น สำหรับ 1 ล้านหยวน หากอยากได้ใหม่เอี่ยมต้องจ่ายแพงกว่า
ตัวเลขที่เอามาให้ดูนั่นเป็นข้อมูลที่เผยแพร่ของทางการจีนนะคะ แต่คนไทยที่เคยไปอยู่เมืองจีนจริงๆ แบ่งปันประสบการณ์ว่า เงิน 1 ล้านหยวน ถ้าใช้ซื้อบ้านตามเมืองเล็กๆ น่าจะซื้อคอนโดมิเนียมได้ชุดหนึ่ง แต่ถ้าซื้อที่ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, เซินเจิ้น รับรองเลยว่า 1 ล้านหยวนนี่แทบจะซื้อไม่ได้เลย เพราะ 1 ล้านหยวนสำหรับเมืองใหญ่ถือเป็นราคาของห้องใต้ดินหรือไม่ก็บ้านมือสองชานเมืองไกลลิบ
สองคนกินข้าวในบ้านด้วยกันก็ไม่แน่น
ดังนั้น คนจีนจำนวนมากจึงไร้บ้าน และมีแนวโน้มจะเป็นปัญหามากขึ้นทุกขณะ เพราะมีประชากรเกิดใหม่ทุกวันแต่ที่พักอาศัยขยายตามไม่ทัน ดังนั้น ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่จีนจึงพุ่งขึ้นทุกปีเฉลี่ยปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ และผลสำรวจล่าสุด ราคาบ้านในจีนยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ด้วยเหตุนี้ บริษัทสถาปนิกทั้ง 2 แห่งก็เลยจับมือกันระดมมันสมองของทีมงานมาร่วมกันสร้างสรรค์บ้านติดล้อขึ้นมา เอาใจคนไม่มีปัญญาซื้อบ้านบนตึก ด้วยแนวคิดที่ว่า บ้านเคลื่อนที่หลังนี้ นอกจากจะพาเคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวกสบายแล้วยังต้องสวยงาม อยู่สบายพอควร ครบถ้วนประโยชน์ใช้สอย ด้วยการออกแบบการใช้งานภายในให้ได้หลากหลาย
และเพื่อเพิ่มเติมรสนิยมวิไลเข้าไปกับตัวบ้าน ยังได้ออกแบบสวนส่วนตัวที่สามารถพ่วงพาไปกับบ้านได้ด้วยนะ ประมาณว่าเจ้าของบ้านจะพ่วงสวนไว้ที่ท้ายสามล้อก็ได้ หรือถ้าใครมีคู่จะให้คู่ของตัวเองเป็นคนขี่สามล้ออีกคันที่พ่วงสวนไปหาที่นอนตามที่ต่างๆ กะหนุงกะหนิงกันก็ไม่แปลก ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว บ้านสามล้อแบบพกพานี้จึงต้องลงลึกในรายละเอียดการออกแบบตั้งแต่การเลือกวัสดุมาใช้ ซึ่งได้ข้อสรุปที่พลาสติกชนิด translucent polypropylene เป็นพลาสติกแบบเหนียว น้ำหนักเบาชนิดโปร่งแสง มีความยืดหยุ่นสูง สามารถพับจีบให้ยืดหดได้ดีเหมือนกับเครื่องดนตรีแอคคอร์เดียน
มีพื้นที่พอสำหรับนั่งอาบน้ำได้
เมื่อประกอบวัสดุทั้งหมดเข้าด้วยกันเป็นตัวบ้านแล้ว ตัวบ้านจะมีน้ำหนักราวๆ 100 ปอนด์ สามารถวางติดตั้งอยู่บนสามล้อได้พอดี การใช้งานพื้นที่ภายในทั้งหมด เมื่อหาที่จอดพักได้แล้วสามารถดึงตัวบ้านให้ขยายยาวออกมาเพิ่มได้อีกเกือบเท่าตัว นวัตกรรมบ้านติดล้อนี้ นับเป็นความภาคภูมิใจของสถาปนิกชาวจีน หลังจากผลิตต้นแบบสำเร็จได้นำออกแสดงอวดสายตาคนทั่วโลกเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2012 ปรากฏว่าได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากมาย ถึงขนาดได้รับยกย่องว่า ทางเลือกใหม่แห่งอนาคตของมวลชน
สำหรับบ้านสามล้อหลังนี้ออกแบบให้เป็นที่อยู่อาศัยแบบพกพา สำหรับคนจรที่ใช้ชีวิตเร่ร่อนไปโน่นมานี่ แต่ถ้าหากรวมกลุ่มกันขึ้นมาก็สามารถสร้างชุมชนบ้านสามล้อขึ้นมาได้ โดยนัดหมายหาที่พักในบริเวณเดียวกัน เอาบ้านมาจอดติดๆ กัน วางสวนไว้ใกล้กัน ก็จะได้หมู่บ้านคนจรเล็กๆ ให้ความรู้สึกอบอุ่นแบบชุมชนขึ้นมา ไม่ถึงขั้นโดดเดี่ยวเดียวดายเกินไปนัก นอกจากนั้น ถ้าอยากมีแขกรับเชิญเข้าไปทำกิจกรรมร่วมกันในบ้าน ก็ยังพอมีที่ทางให้เชิญเพื่อนเข้าไปนั่งคุยกันเป็นการส่วนตัวได้ นั่งกินข้าวด้วยกันได้ 2 คน แต่ถ้าจะนอนให้สบาย บ้านหลังนี้เหมาะที่สุดสำหรับการนอนคนเดียว
การออกแบบที่ชาญฉลาด กินข้าว เก็บของ นอน ที่เดียวกัน
ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าโครงสร้างตัวบ้านนั้นออกแบบให้โปร่งกว้างไปกว่าตัวถังรถสามล้อทั้ง 2 ด้าน ทำให้พื้นที่ใช้สอยภายในไม่แออัดคับแคบจนเกินไป มีความสูงพอประมาณ สามารถยืนได้โดยไม่ต้องย่อตัว มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก อย่างชั้นวางของอเนกประสงค์ซึ่งนอกจากจะสามารถใช้เก็บข้าวของได้แล้ว ยังปรับเป็นโต๊ะกินข้าวได้ด้วย ส่วนม้านั่งแคบๆ ข้างโต๊ะ 2 ด้านเมื่อเลื่อนชั้นวางของจัดเก็บไว้ด้านหนึ่งก็สามารถเลื่อนม้านั่งมาต่อกันเป็นชิ้นเดียว กลายเป็นฐานเตียงนอนซึ่งคือเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเดียวกับที่ใช้เก็บของนั่นเอง ขณะเดียวกัน พื้นที่ด้านในสุด สามารถติดตั้งครัวหรืออ่างอาบน้ำเล็กๆ เอาไว้ใช้ล้างเนื้อล้างตัวได้
จุดเด่นของบ้านสามล้อไฮโซหลังนี้ นอกจากความสวยงามแล้วก็คือเรื่องประหยัดพลังงาน เพราะไม่ต้องยุ่งยากในการติดตั้งไฟแสงสว่างภายในบ้าน เนื่องจากวัสดุหลักของบ้านโปร่งแสง ตอนกลางวันใช้ประโยชน์จากแสงสว่างของดวงอาทิตย์ สามารถส่องผ่านพื้นผิวโปร่งแสงลงไปได้สบาย ส่วนตอนกลางคืนก็พอจะอาศัยแสงไปตามข้างถนนหรือตามตึกได้ สถาปนิกผู้ออกแบบ บอกว่า งานติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ภายในนั้น สามารถออกแบบตามความต้องการของลูกค้าได้เท่าที่พื้นที่จะอำนวย อย่างน้อยก็ในส่วนความจำเป็นพื้นฐาน เช่น พื้นที่สำหรับวางเตาเล็กๆ ซิงก์ล้างจาน ถังเก็บน้ำ เป็นต้น
บ้านกับสวนเคลื่อนที่ออกแบบมาคู่กัน
อย่างไรก็ตาม The Tricycle House ยังเป็นเพียงบ้านต้นแบบ ไม่สามารถบอกราคาต้นทุนได้ และอยู่ระหว่างการนำไปจัดแสดงตามที่ต่างๆ เพื่อประเมินความต้องการของตลาดว่า จะสามารถผลิตออกมาเป็นบ้านสำเร็จรูปขายแบบอุตสาหกรรมได้ในปริมาณมากน้อยเพียงใด
ใครสนใจเป็นพิเศษ ก็ลองติดต่อไปที่บริษัททั้ง 2 แห่งเองนะคะ
####