บ้านหลังนี้ กินได้

เดือนที่แล้วมีโอกาสได้ไปเห็นสวนผักในบ้านของคนสวิสฯ และฝรั่งเศสมา

      เลยพบคำตอบว่าทำไมชาวยุโรปถึงได้ผูกพันกับฤดูร้อนและการทำสวนกันนักหนา

      หน้าร้อนอันแสนสั้นเพียงสามสี่เดือนนั้น ดูเหมือนจะเป็นความสำราญเล็กๆ ที่ทุกคนโหยหา แทบทุกบ้านรอคอยเดือนแดดแจ่ม เพื่อจะได้พรวนดินทำสวนรอบใหม่ หลังจากปล่อยให้หิมะและความหนาวเย็นกลบฝังทุกชีวิตในสวนให้หลับใหล

ขอให้มีที่รับแดดเถิด ฉันไม่เห็นบ้านไหนเลยที่ยอมปล่อยให้ระเบียงโล่งว่างเปล่า ถ้าไม่มีกระถางเจอราเนียม พิทูเนีย และไม้ดอกไม้ใบแสนสวยอื่นๆ ตรงนั้นก็จะเป็นสวรรค์ของพืชผักสวนครัว บรรดาเครื่องเทศสมุนไพรสารพัดที่จำเป็นต้องใช้ในการปรุงอาหาร

ฉะนั้น ข่าวที่ว่า เทรนด์มาแรงในสหรัฐอเมริกายามนี้คือการปลูกผักสวนครัวนั้น คนฝั่งยุโรปเขามิได้ตื่นเต้นกระดี๊กระด๊าไปด้วยเลย เพราะพวกเขาปลูกผักสวนครัวเป็นวัฒนธรรมประจำชีวิตมาตั้งแต่ยุคกลางโน่น

ข่าวเล่าว่า ผักที่ชาวอเมริกันนิยมปลูกกันฮิตสุดขีดก็คือ มะเขือเทศ แตงกวา และถั่ว

มีตัวเลขที่น่าสนใจว่าขณะนี้ครัวเรือนชาวอเมริกันปลูกพืชผักสวนครัวกันถึง 37 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนประชากรทั้งหมด และมีสถิติการปลูกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึงปีละ 20 เปอร์เซ็นต์ไม่น้อยเลยนะคะ ถ้านับเป็นจำนวนหลังว่ากันว่ามีผู้กระโดดเข้ามาเล่นกับผักสวนครัวในบ้านเพิ่มขึ้นราว 43 ล้านหลังต่อปีเลยทีเดียว!

ปัจจัยที่ทำให้การปลูกผักสวนครัวบูมในประเทศที่แสนเจริญทางวัตถุพวกนี้มีหลายสาเหตุด้วยกัน

ตั้งแต่ผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้แทบทุกครัวเรือนต้องรัดเข็มขัด กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการที่คนหันมาห่วงใยความปลอดภัยของอาหารที่เอาใส่ปากกันมากขึ้นด้วย

แม้แต่นางมิเชล โอบาม่า สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ ก็ยังเคยกล่าวชื่นชมการที่ครอบครัวช่วยกันปลูกผักทำสวนครัวที่บ้านว่าเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้ทุกคนได้มาทำกิจกรรมด้วยกัน ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะได้กินผักและผลไม้สดจริงๆ จากสวนของตัวเอง

แรงกระตุ้นทั้งโดยตรงและโดยอ้อมเหล่านี้ก็เลยทำให้คนอเมริกันเห่อปลูกผักกันนักหนา

ถึงขนาดที่ว่าสำหรับคนไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ก็ยังทำสวนครัวได้ โดยการไปเช่าพื้นที่ในสวนออร์แกนิกของชุมชนที่รัฐเป็นผู้ดูแล คิดค่าเช่าที่ปลูกผักในราคาแปลงละ 20 ดอลลาร์เท่านั้นเอง

อย่างในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มีสวนชุมชนอยู่ราว 20 แห่งทั่วเมือง แต่ปัญหาก็คือคิวจองยาวเหยียด อาจต้องรอนานถึง 2 ปีกันเลยทีเดียว

ย้อนมาดูฝั่งยุโรปกันอีกที อยากพูดถึงบ้านสุดเท่หลังนี้ “บ้านกินได้” กินได้ทั้งหลังจริงๆ นะ เพราะเป็นบ้านที่สร้างขึ้นมาเป็นแปลงผักทุกส่วน ที่จริงมันคือสวนแนวตั้งที่สร้างจากลังพลาสติก ดูในรูป เห็นตัวบ้านทั้งหลังแล้วทึ่งจริงๆ

โครงการนี้มีชื่อเต็มๆ ว่า High-density cottage garden structure, Appeltern, Netherlands แต่เรียกกันสั้นๆว่า EatHouse เป็นผลงานการออกแบบของสถาปนิกสาวชาวเนเธอร์แลนด์ชื่อยาวเหยียดแถมออกเสียงสำเนียงยากเสียด้วย ก็เลยต้องคัดชื่อภาษาอังกฤษของเธอมาเต็มๆ Marijke Bruinsma,De Stuurlui Stedenbouw ร่วมกับเพื่อนสาวอีกคนคือ Marjan van Capelle แห่งบริษัทสถาปนิก Atelier Gras, Netherlands

พวกเธอตั้งใจทำบ้านหลังนี้ให้กินได้จริงๆ ทั้งหลัง ตั้งแต่หลังคา ฝาผนัง กระทั่งระเบียงรอบบ้าน แทบทุกส่วนที่เป็นพื้นที่เปิดโล่งให้ต้นไม้ได้รับแสงแดดและอากาศ

เป็นการออกแบบโครงสร้างบ้านสำหรับปลูกผักเต็มพื้นที่ เรียกกันให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ “กระท่อมสวนครัว” ซึ่งมีลักษณะเป็น บ้านกินได้ ไอเดียนี้โดนใจทุกคนอย่างแรง ทำให้พวกเธอได้รับรางวัล Holcim Awards Acknowledgement prize แห่งยุโรปประจำปี 2011

จุดเด่นของบ้านกินได้หลังนี้ก็คือ โครงสร้างราคาไม่แพง ทำขึ้นจากลังพลาสติกที่เราพบเห็นทั่วไปตามตลาดสดที่เอาไว้ขนส่งหรือวางขายผักผลไม้นั่นแหละ เอามาทำเป็นแปลงเพาะปลูกเล็กๆ สำหรับพืชผักสวนครัว ใส่ดินและตะแกรงคลุมหน้าดินอีกทีก็ทำสวนผักได้แล้ว ลักษณะการประกอบเป็นแบบโมดูลาร์ ต่อเข้าด้วยกันด้วยโครงเหล็กง่ายๆ ก็ได้สวนแนวตั้งแบบทำเองราคาไม่แพง ซึ่งสามารถเคลื่อนย้ายถอดประกอบได้สะดวกอีกด้วย

ลังพลาสติกที่เอามาใช้เป็นลังเก่าทั้งหมด นี่ก็ส่งเสริมแนวคิดรักษาสภาพแวดล้อมโดยนำของใช้แล้วกลับมาใช้ซ้ำอีก ทำให้ลดปริมาณขยะได้ แถมโครงสร้างนี้ก็ไม่จำเป็นต้องทำเป็นบ้านทั้งหลังเหมือนต้นแบบ แต่สามารถทำเป็นส่วนเล็กๆ เชื่อมต่อกับระเบียงบ้าน หรือพื้นที่ว่างอื่นๆ ได้ไม่จำกัด

ความตั้งใจของสถาปนิกก็คือ ต้องการเชื่อมโยงพื้นที่ว่างอันจำกัดในเมืองใหญ่ ให้กลายเป็นทั้งที่พักผ่อนหย่อนใจและแหล่งอาหารของคนเมืองไปพร้อมกัน ทำให้เกิดเป็นสวนผักแสนสวยในรูปบ้านทั้งหลัง ที่สามารถเก็บผักกินได้ตลอดไป

ปัญหาเดียวที่จะเกิดก็คือการดูแลรักษา ให้บ้านหลังนี้มีพืชผักเจริญเติบโตตามวงจรของมัน ให้เราได้เก็บกินสม่ำเสมอนั่นเอง ซึ่งก็เป็นปัญหาเดียวกับสวนแนวตั้งอื่นๆ หากระบบการให้น้ำให้ปุ๋ยไม่ถึงตามที่พืชต้องการ โอกาสที่จะได้เห็นความงามสะพรั่งของสวนเหมือนต้นแบบก็คงยาก

แต่ถ้าคิดจะลงมือทำกันจริงๆ ปัญหานี้ก็แก้ไม่ยาก แค่ลงทุนเพิ่มสักหน่อย ติดตั้งระบบพ่นน้ำแบบสปริงเกลอร์อัตโนมัติเอาไว้ เมื่อถึงเวลารดน้ำค่อยเปิด แบบนี้ผักก็จะไม่ขาดน้ำแน่นอน

น่าสนใจนำไปประยุกต์สร้างไว้ล่อคนตามสวนของรีสอร์ตหรือโรงแรมที่มีพื้นที่สนามโล่งกว้าง โดยเฉพาะที่พักในแนวคิด “กรีน ลิฟวิ่ง” ให้แขกเก็บผักตามที่ชอบไปลงจานสลัดของตัวเองได้เลย

แค่คิดก็สนุกแล้วค่ะ