ประติมากรรมสัตว์หิมพานต์รอบพระเมรุมาศ (ทั้ง 4 ทิศ)

ประติมากรรมรอบพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช บรมนาถบพิตร ทั้ง 4 ทิศ จะประกอบไปด้วยสัตว์หิมพานต์และสัตว์ผสมที่อยู่รอบสระอโนดาต โดยยึดหลักความเชื่อตามคติไตรภูมิ เปรียบพระเมรุมาศดุจเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง มีสัตว์หิมพานต์รายล้อมรอบเชิงเขาพระสุเมรุ

สัตว์ผสม ชื่อ กบิลปักษา ตัวและหัวเป็นลิง มีหางเป็นนกและปีกที่ไหล่ มือถือกระบอง เป็นหนึ่งในสัตว์หิมพานต์ ที่ประดับอยู่ตามมุมสระอโนดาต เช่นเดียวกับ กลุ่มหงส์ กินรี และนาค

ส่วนหนึ่งสร้างสรรค์ขึ้นโดย คุณสมชาย บุญประเสริฐ ช่างปั้นปูนสดเมืองเพชรบุรี พร้อมทีมช่างมากฝีมือกว่า 50 คน ใช้เทคนิคการปั้นปูนสดแบบโบราณ ปั้นสัตว์หิมพานต์ สัตว์ผสม และสัตว์ประจำทิศ 3 ด้าน ประกอบด้วย ม้า โค สิงห์ กว่า 120 ตัว

ความแม่นยำและการแข่งกับเวลา คือ ความยากของงานปั้นปูนสด หรือปูนสูตรโบราณ ที่ประกอบไปด้วยปูนขาว ทราย เยื่อกระดาษ น้ำตาลโตนด และกาวหนังสัตว์ เพราะหากพลาดจะทำให้งานไม่สมบูรณ์

“ตั้งแต่ขึ้นโครง สเกตช์แบบ ปั้นสเกตช์ชิ้นเล็ก ขึ้นโครงเหล็ก แล้วก็ขึ้นด้วยแกนซีเมนต์ เป็นพื้น 70-80% ของชิ้นงานให้ใกล้เคียงกับรูปทรงแล้วถึงจะมาถึงขั้นตอนเก็บรายละเอียดของงานปูนตำอีกครั้ง” คุณสมชาย กล่าว

กาฬสีหะ ตระกูล 1 ใน 4 ของประติมากรรมหลักอย่างสิงห์ มีลักษณะเด่นคือ สีดำที่ตัว แสดงถึงความสง่างามและทรงพลังจะตั้งอยู่ในสระอโนดาตทางทิศตะวันออกของพระเมรุมาศ ขณะที่บางตัวจะสวมชฎาที่หัว แทนความหมายคือความเป็นทหารของพระราชา

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มสัตว์ผสม เช่น เหมราช นาคา ซึ่งสระอโนดาตต้นแบบได้จำลองให้เห็นภาพ เมื่อนำสัตว์หิมพานต์ไปประดับอยู่ในตำแหน่งต่างๆ ทั้งสี่ทิศพร้อมการจัดวางท่าทางต่างๆ ของสัตว์ แต่ละชนิดอย่างลงตัว

ก่อนส่งมอบงานให้กับสำนักช่างสิบหมู่เพื่อลงสีโดยยึดแนวทางลงสีสัตว์หิมพานต์ในครั้งนี้ศึกษาจากจิตรกรรมวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร เป็นหลัก

ส่วนด้านทิศเหนือของพระเมรุมาศ จะประดับด้วยประติมากรรมช้างมงคลจากหมู่พรหมพงศ์ทั้ง 10 ตระกูล ประกอบด้วย ฉัททันต์, อุโบสถ, เหมหัตถี, มงคลหัตถี, คันธหัตถี, ปิงคัล, ดามพหัตถี, บัณฑระนาเคนทร, คังไคย, กาฬวกะหัตถี และช้างที่ผสมกับสัตว์อื่นๆ รวมทั้งสิ้น 30 ตัว เพื่อให้สอดคล้องกับหลักความเชื่อที่นำมาใช้กับพระเมรุมาศครั้งนี้ โดยมีวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบ

“เราตีโจทย์ในเรื่องของช้างให้เป็นรูปแบบของการอยู่กันเป็นครอบครัวเป็นโขลง เพราะฉะนั้น ลักษณะกายภาพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การนั่ง การยืน การนอน จะสอดคล้องกันในเรื่องของการอยู่กันอย่างครอบครัว อยู่กันเป็นฝูง อยู่กันมีทั้งตัวผู้ ตัวเมีย ลูกช้าง เพราะฉะนั้น ลักษณะของช้างแต่ละตัวมันก็เลยหลากหลาย ไม่ซ้ำกันในจำนวน 30 ตัว เมื่อเราได้รูปแบบต่างๆ ครบถ้วนแล้ว เราเริ่มดำเนินการลงมือโดยการขึ้นแกนโฟมแล้วใช้ดินน้ำมันเป็นตัวเก็บรายละเอียด แล้วพอเก็บต้นแบบรายละเอียดเสร็จ เราก็อยู่ในช่วงของการถอดพิมพ์แล้วก็หล่อไฟเบอร์กลาส เพื่อที่จะทำการลงสีอย่างที่เห็นต่อไป”

ต้นแบบช้างทั้ง 30 ช้าง ถูกถ่ายทอดออกมาตามอุดมคติ มีลักษณะเสมือนจริงมาผสมผสาน แฝงไว้ด้วยศิลปะในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อสื่อถึงพระองค์ผ่านงานปั้น อย่างในช้างมงคลหัตถี จะนำลักษณะของ “งาอ้อมจักรวาล” ที่เป็นรูปแบบเดียวกับ “งาของพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ พระยาช้างเผือกประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” ซึ่งแสดงถึงบุญบารมีของพระมหากษัตริย์ มาประกอบในรายละเอียดด้วย

ความพิเศษของประติมากรรมช้างประดับพระเมรุมาศครั้งนี้ ช้างทั้ง 30 ช้าง จะอยู่ในอิริยาบถที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในภูมิทัศน์ที่เป็นเชิงเขาและบ่อน้ำ จะมีการผสมกับสัตว์ชนิดอื่นเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับภูมิทัศน์

ทั้งหมดนี้ คืองานประติมากรรมที่เหล่าช่างปั้นสัตว์หิมพานต์ บรรจงทำอย่างพิถีพิถันสุดฝีมือและสุดความสามารถ เพื่อให้ประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ในสระอโนดาตรอบพระเมรุมาศทั้ง 4 ทิศ ออกมาสมบูรณ์แบบ สมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร