รายแรกของไทย! อากาศยานไร้คนขับ “ฟูเว็ก” อยู่ในอากาศได้ 4 ชม. บินได้ 2 พันเมตร

อากาศยานไร้คนขับ คืออะไร

“อากาศยานไร้คนขับ” หรือ “อากาศยานไร้นักบิน” มีชื่อเรียกเป็นสากลว่า “ยูเอวี” (Unmanned Aerial Vehicle: UAV) เป็นอากาศยานที่ไม่มีนักบินประจำการอยู่บนเครื่อง แต่สามารถควบคุมได้ด้วยระบบควบคุมอัตโนมัติระยะไกล ซึ่งต้องอาศัยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่มีระบบซับซ้อนติดตั้งไว้ในอากาศยาน อาจกล่าวได้ว่า อากาศยานไร้คนขับ ก็คือเครื่องบินที่สามารถบินได้ด้วยระบบอัตโนมัติ โดยไม่ต้องใช้นักบินประจำการอยู่บนอากาศยาน อาจมีการติดตั้งกล้องถ่ายภาพคุณภาพสูง ทั้งกล้องถ่ายภาพกลางวันและกล้องถ่ายภาพในเวลากลางคืน

ปัจจุบัน มีการเรียกขานอากาศยานไร้คนขับว่า “โดรน” (Drone) ความจริง “โดรน” เป็นอากาศยานไร้คนขับเช่นกัน แต่แตกต่างจาก “ยูเอวี” อย่างสิ้นเชิง เพราะ “โดรน” บินขึ้นลงในแนวดิ่ง ขับเคลื่อนด้วยใบพัดซึ่งมีมากกว่า 1 ใบพัดเสมอ “โดรน” ยังถูกมองว่าเป็นอากาศยานไร้คนขับที่ผลิตในลักษณะ mass products คือ ผลิตทีละจำนวนมากเพื่อการค้า  ในขณะที่ “ยูเอวี” ผลิตแต่ละตัวต้องใช้เวลานาน และใช้วัสดุคุณภาพสูงกว่า ระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้บังคับมีความซับซ้อนมากกว่า บินไปได้ไกลลับสายตาก็สามารถควบคุมได้ แต่โดรนบังคับบินได้ในระยะที่สายตามองเห็น

ใฝ่ฝันอยากเป็นนักบินไม่สำเร็จ

พลิกลำ ผลิตอากาศยานไร้คนขับได้สำเร็จ

ด้วยความใฝ่ฝันอยากเป็นนักบินมาตั้งแต่เด็ก เมื่อโตขึ้นเป็นนักบินไม่ได้ ผันชีวิตเป็นคนสร้างเครื่องบินเสียเลย ถือว่าไปไกลเกินความใฝ่ฝัน คุณกรณรงค์ ถึงฝั่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท จำกัด รับช่วงต่อจากบิดา คุณชาญณรงค์ ถึงฝั่ง ผู้ริเริ่มสร้างอากาศยานไร้คนขับเป็นเจ้าแรกของประเทศ เมื่อต้องมาสืบทอดธุรกิจ จึงจำเป็นต้องศึกษาเรื่องอากาศยานและด้านการบินมากขึ้น แม้ไม่ใช่นักบินโดยตรงแต่ก็เดินบนเส้นทางการบินระดับแนวหน้าของประเทศ

ผู้บริหารหนุ่มวัย 35 ปี กล่าวว่า แต่เดิมบริษัทได้ทำการวิจัยและพัฒนาเครื่องอากาศยานไร้คนขับแบบขึ้นลงทางดิ่งมาก่อนแล้ว 2 รุ่นคือ รุ่นแรกให้ชื่อว่า “พีเจี้ยน : Pigeon” (นกพิราบ) เป็น UAV ไซซ์เล็กขนาด 1.8 เมตร ราคาเริ่มต้นที่ 6  ล้านบาท พร้อมซอฟต์แวร์สำหรับงานที่มีข้อกำหนดเฉพาะหรืองานในพื้นที่และความสูงที่ถูกจำกัด ต่อมาทางบริษัทได้พัฒนาอากาศยานไร้คนขับขึ้นมาอีกรุ่นให้ชื่อเป็นนกอีกประเภทหนึ่งว่า “ฟอลคอน : Falcon” (นกเหยี่ยว) รุ่นนี้มีขนาดปีกที่ใหญ่ขึ้นแต่น้ำหนักเบา มีข้อดีตรงประหยัดและมีศักยภาพมากขึ้น เหมาะกับงานด้านแผนที่ งานลาดตระเวน จุดเด่นของฟอลคอนคือ ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าที่มีความเงียบ

ล่าสุด ได้พัฒนาอากาศยานไร้นักบินขึ้นมาใหม่รุ่นที่ 3 ให้ชื่อว่า “ฟูเว็ก : Fuvec” (ซึ่งมาจาก Fixed-wing Unmanned aerial vehicle with Vertical takeoff and landing Enabled Capability) มีขนาดใหญ่ที่สุด 4.5 เมตร และมีความสามารถมากกว่าทุกรุ่น อยู่ในอากาศได้ 4 ชั่วโมงครึ่ง บินได้สูงสุด 2,000 เมตร ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 120 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง และความเร็วขับเคลื่อน 100 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง มีทั้งเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันและใช้ไฟฟ้า มีฟังก์ชั่นระบบสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูง รุ่นฟูเว็กนี้ราคาเริ่มต้นที่ 10 ล้านบาท ประกอบด้วย ฮาร์ดแวร์ที่ทนทาน เหมาะสำหรับการใช้งานเฉพาะกิจ มีระบบกล้องดิจิตอลชัดเจน พร้อมการบำรุงรักษาที่เพิ่มเติมขึ้นมา หากใส่ออฟชั่นเต็มที่ราคาเขยิบขึ้นไปอีกที่ 25 ล้านบาท  ทั้งนี้เฉพาะตัวเครื่องอย่างเดียว ราคาก็พุ่งอยู่ที่ 6-7 ล้านบาทแล้ว

“ทั้ง 3 รุ่นเราใช้หลักการในการผลิตเดียวกัน เป็นอากาศยานปีกแข็งเหมือนกัน แต่ต่างกันที่ขนาด น้ำหนัก กล้องที่เอาขึ้นไปได้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับภารกิจที่แตกต่างกัน เช่น หากมีความต้องการทำแผนที่ที่ไม่ละเอียดมาก รุ่นพีเจี้ยนสามารถแบกกล้องขนาดเล็ก ซึ่งก็เพียงพอสำหรับการใช้งานนั้นได้ แต่ถ้าต้องการทำแผนที่ทหารอาจต้องใช้กล้องตัวใหญ่ น้ำหนัก 5  กิโลกรัม ก็จำเป็นต้องใช้ฟูเว็กหรือพัฒนาตัวใหม่ ซึ่งที่ผ่านมา กรมแผนที่ทหารเคยส่งความต้องการจะใช้กล้องตัวใหญ่กว่า 20 กิโลกรัม มาให้เรา หากได้ทำงานร่วมกันจริง คิดว่าอาจต้องผลิตรุ่นใหม่ขึ้นเพื่อรองรับความต้องการนั้น”

ยอมรับ Fuvec คุณภาพเหนือชั้น

โมเดลต้นแบบอากาศยานไร้นักบิน

คุณกรณรงค์ เปิดเผยถึงที่มาของฟูเว็ก ซึ่งเป็นผลงานที่เกิดจากโครงการงานวิจัยร่วมกัน 3 ฝ่ายคือ หน่วยงานของรัฐ นักวิจัย และเอกชน เรียกได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นตามใบสั่ง (Made to Order) ที่เกิดจากทางกองทัพเรือต้องการผลักดันให้อากาศยานไร้นักบินที่อยู่ในงานวิจัยถูกนำมาใช้จริง และตอนนี้ได้เข้าไลน์การผลิตจริงตามโครงการวิจัยไปแล้ว 2 ตัว โดยตัวแรกได้รับการผลิตเสร็จทุกกระบวนการแล้ว มีลักษณะการทำงานคล้ายคลึงกับมัลติโรเตอร์ (โดรน) เพียงแต่สามารถบินอัตโนมัติได้ไกลลับตา มีจุดเด่นเป็นการบินระบบอัตโนมัติ วางแผนให้เครื่องไปได้เองโดยไม่ต้องบังคับ เพียงใส่โปรแกรมตั้งไว้ให้บินตามระยะทาง เส้นทางหรือระยะเวลาที่กำหนด เพื่อทำแผนที่ ลักษณะเหมือน Google Map โดยสามารถถ่ายภาพจากหัวกล้อง จากนั้นภาพจะถูกส่งกลับมาที่กราวน์สเตชั่น

รูปแบบการทำงานก่อนจะเป็นฟูเว็กนั้น คุณกรณรงค์ เล่าว่า ทางฝั่งกองทัพเรือเป็นผู้กำหนดความต้องการหรือตั้งโจทย์ให้ทางบริษัท ท็อป เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป เป็นผู้พัฒนาแบบ เช่น ให้ขึ้นลงเรือได้ ซึ่งฟูเว็กออกแบบให้มีขนาดใหญ่จึงตอบสนองได้ ตามด้วยความต้องการกล้องกิมบอล (Gimbal) ที่ปรับขึ้นลงได้ ถ่ายภาพได้ทั้งกลางวันกลางคืน จึงเลือกใช้กล้อง Flir ที่สามารถถ่ายภาพกลางคืนได้ชัดเจน เป็นต้น บริษัท ท็อป เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป มีความรู้ด้านตัวเครื่อง ทำหน้าที่ดีไซน์ตัวเครื่องทั้งภายนอกและภายใน ออกแบบการขึ้นลงแนวดิ่งที่มีความเชี่ยวชาญ โดยมีกำหนดส่งตัวเครื่องอากาศยานไร้คนขับรุ่นฟูเว็ก ให้กับกองทัพเรือทั้งสิ้น 4 เครื่อง

“โครงการวิจัยนี้ทำเพื่อทดสอบว่าคอนเซ็ปต์ของ Vtol Takeoff Landing ใช้ได้จริง และพิสูจน์ว่าสามารถพัฒนาขึ้นภายในประเทศได้จริง สามารถนำไปต่อยอดเป็นอากาศยานปีกแข็งที่มีความสามารถในการทำงานมากกว่าตัวมัลติโรเตอร์ (โดรน) และยังมีจุดเด่นไม่ต้องใช้รันเวย์แข็ง ระยะบินไกล ควบคุมอัตโนมัติเกือบ 100% และถึงแม้ข้อดีของระบบออโต้ไฟลอตจะแก้ไขได้เร็วกว่าคนบังคับ แต่ก็ต้องวางแผนให้ปลอดภัยกว่าปกติ โอเปอเรเตอร์ต้องวางไฟล์แพลนอย่างละเอียดรอบคอบ ดีไซน์ให้มีจุดแก้ไขตอนที่เครื่องบินอยู่กลางอากาศได้ ไม่ทำอะไรที่เกินลิมิตของเครื่อง เมื่อจบโครงการแล้ว ทีมงานก็จะมาสรุปว่าเราเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมจากตรงนี้บ้าง ซึ่งมีทั้งข้อดีของการดีไซน์ และมีจุดที่ควรปรับพัฒนาเพิ่มเติมต่อ และด้วยข้อดีที่เป็นโครงการวิจัยร่วมที่ต้องสร้างโปรดักต์ทนทาน (Durable) ผ่านการศึกษาวิจัยที่มั่นคง  และมีผู้ใช้งานคือทหารและหน่วยงานภาครัฐ ทำให้เราสามารถบอกได้เลยว่า อยากจะพัฒนาอะไร จุดไหนเพิ่มเติมก่อนเข้าไลน์การผลิต ท้ายที่สุดเราก็ยังได้องค์ความรู้ในการพัฒนาอากาศยานปีกแข็งให้ได้ผลลัพธ์ดี ใช้งานการทหารได้สมบูรณ์ ใช้ง่ายและทนทานขึ้น เกิดไอเดียว่าจะพัฒนาระบบป้องกันตัวเครื่องเองให้ได้เหมือนอากาศยานประเภทมัลติโรเตอร์ (โดรน)”

หน่วยงานของรัฐ-เอกชน

คือลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย

ถึงแม้ว่า บริษัท ท็อป เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป จะเป็นผู้ผลิตอากาศยานไร้คนขับเจ้าเดียวในประเทศ ที่มีความครบวงจรคือ บินได้อัตโนมัติ มีจุดเด่นสามารถบินโชว์ได้ การซ่อมบำรุงก็ง่ายกว่า นับเป็นโอกาสให้เปิดตลาดได้ง่าย แต่ความจริงแล้วลูกค้ายังมีคำถามที่ว่าจะทำได้จริงหรือ เพราะถ้ายังไม่มีคนซื้อ ผู้ผลิตก็ต้องทำเดโม (ของตัวอย่าง) ให้ดูก่อน จึงนับเป็นอุปสรรคของ First Comer (ผู้ผลิตรายแรก) พอสมควร แต่หากมีหน่วยงานหลักอย่างภาครัฐสนับสนุนผลักดันให้ผลงานจากผู้ประกอบการใช้ได้จริง ย่อมทำให้เอกชนมองเห็นและเชื่อมั่นได้ในที่สุด

คุณกรณรงค์ เล่าว่า ที่ผ่านมาโรงเรียนนายร้อย จปร. เองมีความพยายามจะทำแผนที่ผ่านการใช้เครื่องมัลติโรเตอร์ ซึ่งต้องบังคับด้วยมือ ทำให้ภาพถ่ายเกิดข้อผิดพลาดและยังทำไม่สำเร็จ ครั้น บริษัท ท็อป เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป เข้าไปเสนอและมีโอกาสได้ทำเดโมแผนที่ให้โดยบินชั่วโมงเดียว ก็สามารถแก้ปัญหาให้ลูกค้าและทำได้อย่างสมบูรณ์กว่า   นอกจากนั้นยังมีหน่วยงานภาครัฐมากมายที่สนใจซื้ออากาศยานไร้นักบินขนาดย่อมลงมาอย่างรุ่นพีเจี้ยน เพื่อใช้ทำแผนที่ไว้ใช้เองในองค์กร อาทิ กรมชลประทาน กรมอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ กรมประมง ซึ่งทุกองค์กรอยากให้ทางบริษัททำเดโมหรือทำตัวอย่างบินโชว์ให้ดู แต่ด้วยเหตุที่ต้องเตรียมตัวทำโครงการวิจัยร่วมกับกองทัพเรือ จึงทำให้บริษัทยังไม่มีโอกาสได้ตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าเหล่านั้นได้ทันใจ

“กลุ่มลูกค้าทั้งภาครัฐ ทหาร หรือแม้แต่หน่วยงานกรุงเทพมหานคร ก็มีความต้องการอยากซื้อ หรือแม้กระทั่งหน่วยงานเอกชน อย่างบริษัทน้ำมันในประเทศก็สนใจรุ่นพีเจี้ยน เพื่อนำไปตรวจยามชายฝั่ง เพื่อแก้ไขข้อจำกัดเรื่องขาดคนงานหรือมีความจำเป็นเร่งด่วน รวมถึงภาคการปกครองก็ยังมีความต้องการให้หน่วยงานระดับจังหวัด ได้มีอากาศยานไร้คนขับไว้ใช้งาน รอแค่ให้เราเข้าไปนำเสนอเท่านั้น ในขณะเดียวกัน เราก็ให้ความสำคัญกับการรักษาฐานลูกค้า ต้องยึดถือโปรดักต์เป็นหลัก ยูนิตแรกต้องสมบูรณ์ เพราะความเป็นมืออาชีพเป็นสิ่งเดียวที่ผูกพันตัวผู้ผลิตกับลูกค้าไว้ได้ อย่าให้ลูกค้ามีทัศนคติว่า “เป็นของไทย ลองใช้ก่อน” แต่ต้องทำให้เห็นถึงคุณภาพเป็นอันดับแรก เพราะสิ่งนี้จะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อ ซื้อซ้ำ และบอกต่อ”

 

ฝีมือและคุณภาพไม่หวั่น

หวั่นขาดบุคลากรสายตรง

อย่างไรก็ตาม การผลิตอากาศยานไร้คนขับรายแรกของประเทศ ยังมีอุปสรรคเบื้องต้นเรื่องบุคลากร เพราะสายงานนี้ยังขาดกำลังคนที่จบการศึกษาด้านนี้โดยตรง ถึงแม้จะมีหลายสถาบันที่มีองค์ความรู้ใกล้เคียงกันอย่าง คณะวิศวกรรมการบินและอวกาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือสถาบันการบินพลเรือน ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี แต่การศึกษาด้าน UAV โดยตรงยังมีผู้ศึกษาน้อยมาก ในขณะที่ผู้ประกอบการยังมีความต้องการบุคลากรในระดับปฏิบัติงาน (Technical) ที่จบ ปวช. ปวส. และมีความรู้เรื่องนี้หรือการทำโรโบติกส์เกี่ยวกับหุ่นยนต์ได้เช่นกัน

“ผมมั่นใจว่าในแง่องค์ความคิดนั้น คนไทยไม่แพ้ต่างชาติ เพียงแต่คนที่จะเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ยังน้อย ค่าใช้จ่ายในการทำ R&D อาจจะมากกว่า อีกทั้งด้านวัสดุศาสตร์ของเรื่องนี้ก็ยังมีน้อยในเมืองไทย กลายเป็นอุปสรรคพอสมควร ผมวางแผนไว้ว่าครึ่งปีหลัง บริษัทจะเตรียมทำเวิร์กช็อปหากำลังคนมารับไลน์การผลิตที่เพิ่มขึ้น

กฎหมายของการใช้ UAV เนื่องจากกฎระเบียบที่ว่าห้ามบินเกินระยะสายตาหรือเกินความสูง 90 เมตร ตลอดจนเรื่องการแบ่งน้ำหนัก หากเกิน 25 กิโลกรัม ผิดกฎหมาย ในขณะที่น้ำหนักของฟูเว็กซึ่งออกแบบมาเพื่อบินไกล มีน้ำหนักเกินกว่าที่กำหนด จึงจดทะเบียนไม่ได้ สามารถใช้ได้ในภาคความมั่นคงอย่างเดียว ซึ่งข้อจำกัดตามกฎหมายอาจส่งผลให้ธุรกิจพัฒนาต่อไม่ได้ ทำให้เอกชนที่อยากซื้อเกิดความลังเลที่จะซื้อเพื่อนำไปใช้งาน

ถึงแม้ในอนาคตเราจะมีคู่แข่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว หากรัฐไม่แก้ไขกฎระเบียบ กฎหมาย และมีมาตรการสนับสนุนการเงิน นโยบายทางภาษีที่ชัดเจนและเหมาะสม คนกลุ่มนี้อาจไปขายไอเดียให้ต่างชาติได้ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต” คุณกรณรงค์ ถึงฝั่ง กรรมการผู้จัดการบริษัท ท็อป เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด กล่าวถึงโอกาสและอุปสรรคในการทำธุรกิจผลิตอากาศยานไร้คนขับอย่างไม่ปิดบัง และทิ้งท้ายด้วยคำพูดที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศในอนาคต