กสอ. เร่งส่งเสริมอุตฯอิเล็กทรอนิกส์ สู่โมเดล “ไทยแลนด์ 4.0”

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ขานรับยุทธศาสตร์ชาติ ในการผลักดันประเทศไทยเข้าสู่โมเดล “ไทยแลนด์ 4.0” เร่งส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ และกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม อาทิ หุ่นยนต์ เพื่อการอุตสาหกรรม แขนกลประกอบเครื่องจักร เป็นต้น

โดยในปี 2558 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าอุตสาหกรรมรวมกว่า 32,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 1.1 ล้านล้านบาท และคาดว่าปี 2559 จะมีแนวโน้มเติบโตสูงร้อยละ 6.5 ต่อปี

ทั้งนี้ การส่งเสริมดังกล่าวเพื่อตอบโจทย์ 5 กลุ่มอุตสาหกรรม 4.0 อันสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย อาทิ กลุ่มอาหารและการเกษตร กลุ่มเทคโนโลยีการแพทย์ กลุ่มหุ่นยนต์และอุปกรณ์บังคับต่าง ๆ เป็นต้น

thumbnail_product1

อย่างไรก็ตาม กสอ. มีโครงการส่งเสริมและพัฒนาในอุตสาหกรรมดังกล่าว อาทิ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์โทรคมนาคม โครงการพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ ฯลฯ รวมงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท

คุณพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายผลักดันประเทศไทย เข้าสู่โมเดล “ประเทศไทย 4.0” เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “Value-Based Economy” หรือเศรษฐกิจ ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม นั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้ก้าวเข้าสู่ยุคที่ให้ความสำคัญกับการผลิตด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง โดยมุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใน 5 กลุ่ม ได้แก่

1.กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ

2.กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีการแพทย์

3.กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้อิเล็กทรอนิกส์ควบคุม

4.กลุ่มดิจิทัล เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่าง ๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว

  1. กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ดังกล่าว

thumbnail_%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%81%e0%b8%ad%e0%b8%9a%e0%b8%82%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%a7%203

ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ถือเป็นส่วนที่สำคัญ รวมทั้งเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนและทำหน้าที่ต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้อย่างหลากหลาย ซึ่งจะยิ่งทวีความสำคัญในด้านบทบาทและ มูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้นต่อไปในอนาคต

คุณพสุ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สู่ยุทธศาสตร์ประเทศดังกล่าว  จะต้องมุ่งเน้นการพัฒนาใน 2 กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่

กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง  หมายถึง การนำชิ้นส่วนหรือกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อไปต่อยอด ในอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับการผลิตผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ทั้งอุตสาหกรรมขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลาย อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ไมโครชิพเพื่อการควบคุมชุดคำสั่ง  เป็นต้น

กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต หมายถึง การนำชิ้นส่วนหรือกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้เกิดระบบการควบคุมอัจฉริยะในขั้นตอนการผลิตของอุตสาหกรรมโดยตรง ซึ่งจะช่วยทำหน้าที่ต่างๆให้เกิดประสิทธิภาพได้อย่างหลากหลาย รวมทั้ง ก่อประโยชน์จากโอกาสในการเพิ่มความคุ้มค่าต่อการลงทุน รวมไปถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ อาทิ หุ่นยนต์ในระบบการผลิตอัตโนมัติ แขนกลประกอบเครื่องจักร เป็นต้น

thumbnail_%e0%b8%97%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%9e%e0%b8%aa%e0%b8%b8%201

ทั้งนี้เป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวเพื่อให้เป็น ซูเปอร์คลัสเตอร์ ทั้งการผลักดัน               นักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต

รวมทั้งขยายฐานการลงทุนของบริษัทที่อยู่ในไทย ให้เพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2558 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออกกว่า 32,000ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 1.1 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนในการนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 27,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 9.45 แสนล้านบาท

และคาดว่าสิ้นปี 2559 จะมีการเติบโตมากกว่าร้อยละ 6.5 ต่อปี  โดยปี 2560 กสอ. มีแนวทางการดำเนินงานและสนับสนุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์โทรคมนาคม โครงการพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ การพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้านเครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เป็นต้น ด้วยงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท และมีเป้าหมายพัฒนาสถานประกอบการให้ได้ประมาณ 200 กิจการ/2,000 คน

thumbnail_%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%81%e0%b8%ad%e0%b8%9a%e0%b8%82%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%a7%205

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4538 , 0 2202 4526 หรือเข้าไปที่ http://www.dip.go.th