เผยแพร่ |
---|
อดีตแอร์โฮสเตส เผยจุดเปลี่ยนชีวิต ทิ้งเงินหลักแสน หันมาต่อยอดร้านอาหารข้างทาง สร้างกำไรสุดปัง
อาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินอาจจะเป็นความฝันของใครหลายคน ดังเช่นเรื่องราวของ เชอร์รี่ แทน ที่เธอพยายามสมัครเข้าทำงานตำแหน่งนี้ แต่กลับถูกปฏิเสธถึง 9 ครั้ง แต่เธอก็ไม่ย่อท้อ จนได้ทำงานเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ หลังจากทำงานมาเป็นเวลา 6 ปี เธอก็ตัดสินใจลาออกจากงานในฝันของเธอ มาขายอาหารแผงลอย
จุดเริ่มต้น
ตอนที่ เชอร์รี่ แทน อายุได้ 19 ปี เธอได้สมัครเข้าทำงานเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่ Singapore Airlines แต่แล้วก็ถูกปฏิเสธ เธอจึงเปลี่ยนเส้นทางอาชีพชั่วคราว และไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี สาขาธุรกิจการบริการที่ Singapore Institute of Technology แต่ความฝันที่อยากจะเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินก็ยังไม่เคยหายไป เธอสมัครเข้าทำงานต่อ หลังจากสำเร็จการศึกษา
เธอพยายามมาจนถึงครั้งที่ 10 ก็ได้งาน และใช้เวลา 6 ปีในการบินไปทั่วโลก สำรวจประเทศใหม่ๆ ทุกๆ 2 วัน จนปัจจุบัน เธออายุ 29 ปี
เธอกล่าวว่า “การเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตของฉัน” และเสริมว่าเธอมีความสุขกับความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานที่ได้รับจากงานนี้
แต่เมื่อใกล้จะสิ้นปีที่ 5 เธอเริ่มรู้สึกเฉยๆ กับการบิน และไม่แน่ใจเกี่ยวกับความมั่นคงของงาน และความก้าวหน้าในอาชีพการเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน
ขณะเดียวกัน ดันแคน ซู สามีของเชอร์รี่ เขาทำงานเป็นเชฟอยู่ในโรงแรมแห่งหนึ่ง และต้องการเริ่มธุรกิจของตัวเอง เธอจึงมองว่านี่เป็นโอกาสที่พวกเขาจะเปิดร้านอาหารแผงลอยร่วมกันในร้านโกปี๊เตี่ยม ซึ่งเป็นร้านกาแฟแบบเปิดโล่ง ขายอาหารหลากหลายชนิดในราคาไม่แพงที่สิงคโปร์
ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ทั้งคู่ใช้เงินลงทุนไปประมาณ 30,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (หรือประมาณ 760,000 บาท) พวกเขาตั้งชื่อร้านว่า Kiang Kiang Taiwan Teppanyaki และวางแผนเมนู โดยได้รับแรงบันดาลใจจากรูปแบบการทำอาหารญี่ปุ่นที่นำเข้ามาในช่วงทศวรรษ 1970
โดย “teppan” หมายถึง “แผ่นเหล็ก” และ “yaki” หมายถึง “ย่าง” ลูกค้าสามารถเลือกได้ระหว่างสเต๊ก ไก่ หมู หรือปลาฮาลิบัต จากนั้นจึงเพิ่มข้าวหรือเส้นก๋วยเตี๋ยวและเครื่องเคียงเพิ่มเติม
เธอเล่าว่า ตอนที่เป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ได้รับเงินเดือนราวๆ 6,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (หรือประมาณ 150,000 บาทต่อเดือน) ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนเที่ยวบินที่เธอขึ้น เมื่อลาออกจากงานเพื่อไปเป็นแม่ค้า เธอจะต้องยอมลดเงินเดือนลง 50%
แต่เธอมองว่าการลดเงินเดือนของเธอเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เธอกล่าวว่า “นี่ไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของเรา” พร้อมกล่าวเสริมว่าพวกเขาวางแผนที่จะขยายธุรกิจในอนาคต ดังนั้น เธอจึงต้องกัดฟันสู้
ปัจจุบัน เธอทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ เฉลี่ยวันละ 12 ชั่วโมง เธอเล่าว่า เธอไม่มีเวลาใช้เงินกับอย่างอื่น ต้องใช้เวลาสักพักถึงจะชินกับการทำงานในพื้นที่แผงขายเนื้อขนาด 147 ตารางฟุต ซึ่งร้อนอบอ้าวเมื่อแฟนของเธอย่างเนื้อ
ทางด้านพ่อแม่ของเธอไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนอาชีพ “จนกระทั่งวันนี้ พวกเขาก็ยังถามฉันว่าทำไมฉันต้องยอมสละงานที่มั่นคง” เธอกล่าว
ไม่มีธุรกิจง่ายๆ ที่จะเข้ามา
ธุรกิจหาบเร่แผงลอยเป็นธุรกิจที่ท้าทายในการประสบความสำเร็จ ถึงแม้ว่าต้นทุนในการเริ่มต้นธุรกิจอาจจะต่ำกว่าธุรกิจอาหารและธุรกิจอื่นๆ ก็ตาม แต่ธุรกิจนี้ก็ต้องการแรงกายมากและอาจให้ผลกำไรเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
“ไม่มีอะไรรับประกันว่าคุณจะประสบความสำเร็จได้ คนเราต่างก็เคยล้มเหลวกันทั้งนั้น นั่นคือความจริง หากคุณไม่ทำการบ้านให้ดี คุณไม่ศึกษาเมนูอาหารให้ดี คุณจะล้มเหลวอย่างรวดเร็ว”
เมื่อเริ่มต้น ธุรกิจค่อนข้างซบเซา ขายได้ประมาณ 50 ชุดต่อวัน ซึ่งราคาอยู่ระหว่าง 8.50 ถึง 13.50 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 200 ถึง 350 บาท) และพวกเขายังต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายรายเดือนด้วย ซึ่งต้นทุนในการดำเนินการร้านอยู่ที่ประมาณ 21,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน (ประมาณ 540,000 บาท)
ต่อมา ธุรกิจเริ่มคึกคักขึ้น เมื่อวิดีโอเกี่ยวกับชีวิตเร่ขายของเธอได้รับความสนใจบน TikTok สื่อท้องถิ่นก็เริ่มรายงานเกี่ยวกับธุรกิจนี้เช่นกัน
โดยสื่อท้องถิ่นรายงานว่า “การที่เจ้าของแผงลอยรายนี้เคยทำงานที่ Singapore Airlines ทำให้เกิดความอยากรู้อยากเห็นและดึงดูดความสนใจ”
“เมื่อแวะไปที่แผงขายอาหาร ในวันศุกร์ช่วงบ่าย ในเดือนสิงหาคม เห็นลูกค้าสองสามคนกำลังกินอาหารจานร้อนจนหมดคำสุดท้าย ตอนนั้นเป็นเวลาเกือบจะสิ้นสุดชั่วโมงอาหารเที่ยงแล้ว และเมนูเครื่องเคียงอย่างถั่วงอกก็ขายหมดเกลี้ยง
ขณะที่ซูกำลังปรุงออร์เดอร์ส่งอาหารรอบสุดท้ายในครัว เชอร์รี่ก็ทำงานไปเรื่อยๆ โดยไม่หยุดพักเลย ฉันเห็นเธอกำลังแพ็กออร์เดอร์ เทซอสลงในถุงอาหารสำหรับซื้อกลับบ้าน และพูดคุยกับลูกค้า”
เชอร์รี่ กล่าวว่า ทักษะที่เธอได้รับในฐานะ Singapore Girl (เป็นชื่อเล่นที่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงของสายการบินใช้) พิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์ในทางที่คาดไม่ถึง
“ฉันคุ้นเคยกับการพูดคุยกับลูกค้า ดังนั้น ในฐานะคนขายของ ฉันจึงสามารถทำให้ลูกค้ารู้สึกสบายใจได้ ฉันคิดว่ามันดี หมายความว่า คุณไม่ค่อยพบสิ่งนั้นในแผงขายของริมทาง เพราะโดยปกติแล้ว ผู้คนมักจะสั่งอาหารแล้วไป” เธอกล่าว
ข้อดีของการเป็นพ่อค้าแม่ค้า
เมื่อเธอเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เธอเพียงแค่ต้องรายงานตัวเพื่อทำงาน ปฏิบัติตามคำสั่ง และรับเงินเดือนประจำทุกสิ้นเดือน
แต่ตอนนี้ เธอได้เป็นเจ้านายตัวเองแล้ว ในขณะที่สามีของเธอดูแลเรื่องการทำอาหาร เธอก็ดูแลแคชเชียร์ งานธุรการ บัญชี และการตลาด
แม้ว่าเธอจะไม่เห็นตัวเองกลับไปใช้ชีวิตพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินอีก แต่สิ่งหนึ่งที่เธอคิดถึงก็คืออาหาร
“ฉันไม่ได้พูดถึงอาหารบนเครื่องบินหรอก” เธอกล่าว
“ฉันหมายถึงอาหารต่างประเทศน่ะ รู้ไหม บิริยาณีในอินเดีย ชีสเค้กแฟคทอรี่ในอเมริกา” เธอกล่าวพร้อมกับหัวเราะ
เธอรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวที่ยิ่งใหญ่กว่านี้เพื่อป้องกันไม่ให้วัฒนธรรมแผงลอยขายอาหารของสิงคโปร์ตายไป
“วิถีชีวิตแบบเร่ขายอาหารเป็นความท้าทาย แต่ฉันคิดว่าถ้าคนรุ่นใหม่เต็มใจที่จะผ่านกระบวนการนี้มากขึ้น มันก็จะคุ้มค่า” เธอกล่าว
ที่มา : Business Insider
เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 22 กันยายน 2024