ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงโตขึ้นอย่างมาก! คนส่วนใหญ่มักนิยมเลี้ยงสัตว์เหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว

ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงโตขึ้นอย่างมาก! คนส่วนใหญ่มักนิยมเลี้ยงสัตว์เหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว และพร้อมที่จะจ่ายเพื่อสัตว์เลี้ยง 

ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตามความนิยมเลี้ยงสัตว์ในหลายประเทศทั่วโลก โดยมีปัจจัยสำคัญจากพฤติกรรมนิยมเลี้ยงสัตว์เสมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่มีกำลังซื้อสูงและพร้อมที่จะจ่ายเพื่อสัตว์เลี้ยง

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ทั้งจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี รวมถึงสภาพสังคมที่มีขนาดครอบครัวเล็กลง ไม่แต่งงานหรือมีบุตรลดลง เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ส่งผลให้ความนิยมเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยไปตลาดโลกปี 2024 อาจอยู่ที่ 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 19.5% เทียบกับปีก่อนที่หดตัวถึง 15.0% โดยเป็นการเติบโตทั้งในฝั่งของปริมาณความต้องการ ที่ทยอยฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ ประกอบกับความนิยมเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทย เนื่องจากไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 4 ของโลก และมีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นผลพลอยได้ของอุตสาหกรรมเกษตรและประมงที่มีอยู่ในประเทศ เช่น แป้ง ธัญพืช เศษอาหารทะเล และฝั่งของราคาที่ขยับขึ้นตามต้นทุนการผลิต อาทิ ค่าแรงงาน บรรจุภัณฑ์ ขนส่ง ไฟฟ้า 

แม้การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยปี 2024 อาจกลับมาฟื้นตัว แต่ระยะข้างหน้ายังต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่สำคัญ 3 ประเด็น คือ

1) การแข่งขันกับคู่แข่งที่รุนแรง แม้ในตลาดหลักไทยจะครองตำแหน่งแหล่งนำเข้าอันดับ 1 แต่คู่แข่งอื่นๆ ก็มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคู่แข่งที่มีความได้เปรียบด้านราคาและระยะขนส่งที่ใกล้ เช่น ส่วนแบ่งตลาดของเม็กซิโกและกัมพูชาที่เติบโตต่อเนื่องติดกัน 4 ปี ในตลาดสหรัฐฯ ส่วนในญี่ปุ่น ส่วนแบ่งตลาดของเกาหลีใต้ปี 2023 เพิ่มสูงเป็น 2 เท่าจากปี 2021 ขณะที่ไทยมีสัญญาณของต้นทุนการผลิตที่ปรับขึ้น จึงทำให้ไทยอาจเสียเปรียบการแข่งขันด้านราคา

2) พฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์ที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้สอดรับไปกับตลาดเป้าหมาย อาทิ เทรนด์เลี้ยงสัตว์ในรูปแบบของ Pet Premiumization ที่เติบโตในตลาดสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งผู้เลี้ยงส่วนใหญ่ยังยอมลงทุนกับการใช้จ่ายเลือกซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงคุณภาพสูง เพื่อยกระดับดูแลสัตว์เลี้ยงให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น หรือรักษาชีวิตให้อยู่ยืนยาว สะท้อนจากยอดการใช้จ่ายด้านอาหารสัตว์เลี้ยงที่ยังเติบโตสูงกว่าค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ เป็นต้น

3) มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทานที่เข้มงวดมากขึ้นจากผู้นำเข้า เช่น การลดการปล่อยคาร์บอน (CO2) การตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของวัตถุดิบ รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้า (NTBs) กับกลุ่มผลิตภัณฑ์ใช้วัตถุดิบที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ยั่งยืน (อาทิ ปลาป่น กากถั่วเหลือง) โดยเฉพาะตลาดส่งออกในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป

ไทยควรเจาะตลาดพรีเมียมรับเทรนด์ผู้บริโภคยอมจ่ายสูง เพื่อลดความเสี่ยงด้านการแข่งขันที่รุนแรง มาตรฐานทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนที่เข้มงวดขึ้น เร่งพัฒนาอาหารสัตว์เลี้ยงในกลุ่มพรีเมียมหรือมีมูลค่าเพิ่มสูง ให้สอดรับกับเทรนด์บริโภคในอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยง อาทิ อาหารสัตว์เลี้ยงที่มีคุณภาพเทียบเท่าอาหารสำหรับมนุษย์ (Human Grade) อาหารสัตว์เลี้ยงออร์แกนิก อาหารสัตว์เลี้ยงจากโปรตีนทางเลือก (พืช/แมลง) อาหารที่มีคุณสมบัติเฉพาะ เช่น สำหรับสัตว์เลี้ยงที่มีน้ำหนักเกิน สูงวัย ต้องการอาหารเฉพาะโรค บำบัดอาการเจ็บป่วย หรือเสริมวิตามินบำรุง เป็นต้น 

สร้างแบรนด์สินค้าที่เป็นของตัวเองให้มากขึ้น จากเดิมที่เน้นรับจ้างผลิต (OEM) ให้แบรนด์ชั้นนำของโลก คิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% ของจำนวนผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ขณะที่การผลิตภายใต้แบรนด์ไทยมีอยู่เพียง 20%  เพื่อเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันให้เทียบเท่าผู้เล่นรายสำคัญของโลก อาทิ เยอรมนี สหรัฐฯ ฝรั่งเศส ที่จะส่งออกแบรนด์ตัวเองเป็นหลัก

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย