ป้ายบอกราคา เรื่องสำคัญ ผู้ประกอบการต้องใส่ใจ หากไม่อยาก เสียลูกค้า

ป้ายบอกราคา เรื่องสำคัญ ที่ผู้ประกอบการต้องใส่ใจ หากไม่อยาก เสียทั้งลูกค้าและโอกาสขาย!

ค้าขายกันในยุคนี้ “ป้ายราคา” คือ สื่อกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เราไม่อยู่ในยุคไถ่ถามราคากันแล้ว แต่ผู้ซื้อ อยากรู้ “ราคา” ถ้ารู้สึกสนใจสินค้า ดังนั้น ป้ายราคา จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

สมัยก่อน สนใจต้องถามราคา คนขายบอกมา คนซื้อต่อรอง เดี๋ยวนี้คนซื้อเริ่มชินกับการซื้อของบนห้าง หรือร้านสะดวกซื้อ ไม่ต้องต่อรอง เพราะไม่มีพนักงานคนไหนลดราคาให้ หรือซื้อของออนไลน์ ราคาก็เป็นไปตามที่ระบุ ระบบทำงานให้ ไม่มีใครมาต่อรองด้วย “ป้ายราคา” จึงสำคัญมาก

ในมุมมองทางกฎหมาย เขายังมองว่า นี่คือ สิทธิพื้นฐานที่ผู้บริโภค ควรได้รับรู้ข้อมูลอย่างครบถ้วน ถูกต้อง ตรงไปตรงมา ด้วยการบอกราคาที่ชัดเจน ไม่ต้องคอยมาถาม แล้วเสียเวลามาบอกกันทีหลัง เรื่องนี้มีบทบัญญัติทางกฎหมายชัดเจน ระบุไว้ใน พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ที่ระบุไว้ว่า ผู้จำหน่ายสินค้าและบริการ ต้องปิดป้ายแสดงราคาและค่าบริการอย่างชัดเจน ไม่เช่นนั้นมีโทษปรับสูงสุดถึง 10,000 บาท

เช่นเดียวกับการซื้อของออนไลน์ ถ้าพบร้านที่ไม่เปิดเผยราคาของสินค้าหรือบริการ สามารถร้องเรียนกับกรมการค้าภายใน หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดได้ทั่วประเทศ ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะการขายของออนไลน์ แล้วไม่แจ้งราคาให้ชัดเจน ถือว่ามีความผิดตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 70 พ.ศ. 2563 เรื่อง การแสดงราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าและบริการผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์ หากร้านค้าไม่ปิดป้ายแสดงราคาจะมีโทษปรับสูงสุด 10,000 บาท เช่นกัน

แต่ไม่ต้องไปถึงขั้นดำเนินการตามกฎหมายก็ได้ เพราะป้ายราคา ในมุมง่ายๆ ระหว่างคนซื้อกับคนขาย ควรสร้างความชัดเจน เนื่องจากส่งผลทางความรู้สึกหลายอย่าง

ถ้าร้านค้าไม่ติดป้าย หรือร้านออนไลน์ไม่แจ้งราคา คนอยากซื้อ จะเริ่มคลางแคลงใจ “สงสัยว่าจะแพง” หรือต้องมีเงื่อนไขแอบแฝงบางประการ เปิดฉาก เริ่มไม่ค่อยไว้วางใจกันซะแล้ว คนขายถูกมองว่า ไม่ค่อยจริงใจ ต้องมีอะไรแอบแฝง

ทว่าการติดป้ายครบถ้วน ก็พึงต้องระวังไว้ด้วยเช่นกัน การติดป้ายราคาชัดเจน พอถึงเวลาซื้อจริง ราคาขาย “แพงกว่า” ราคาบนป้าย แบบนี้เดือดร้อนแน่ เพราะหนักว่าการไม่ติดป้ายราคาตั้งแต่แรก อันนี้ไม่ใช่แค่รู้สึกคลางแคลงใจธรรมดา แต่คนซื้อรู้สึกว่า “โดนโกง” เหตุการณ์เช่นนี้ มักเกิดขึ้นกับร้านค้าที่ใช้ระบบการอ่านป้ายราคาด้วยบาร์โค้ด ราคาที่ติดบนสินค้า แสดงราคาหนึ่ง แต่ราคาในระบบถูกปรับเปลี่ยนขึ้นราคาจากราคาเดิม แล้วไม่ได้แก้ไขป้ายให้ถูกต้อง จะด้วยความเผลอ หรือขี้เกียจ ไม่ใส่ใจ คิดว่ายิงบาร์ออกมา ราคาไหน ก็ราคานั้น แต่…ลูกค้าไม่ปลื้ม

อีกกรณี ป้ายราคาผิดเหมือนกัน แต่ผิดแบบที่ยิงบาร์แล้ว ราคาในระบบถูกกว่าป้าย เก็บเงินลูกค้าน้อยกว่าราคาป้าย แบบนี้…ลูกค้าอภัยได้ หากราคานั้นผิดจริงๆ ร้านค้าเอง ก็เสียผลประโยชน์ อาจถึงขั้นขาดทุน ดังนั้น ไม่ว่าจะผิดแบบลูกค้าได้ประโยชน์ หรือเสียประโยชน์ ล้วนไม่เกิดผลดีทั้งสิ้น ทำให้ป้ายราคาถูกต้อง ทั้งบนป้าย และราคาในระบบ ดีที่สุด

ราคาบนป้าย ถูกติดโดยพนักงานหน้าร้าน แต่ราคาในระบบ หากเป็นบริษัทใหญ่ ยิ่งมีสาขาหลายแห่ง จะมีพนักงานการตลาดส่วนกลางปรับเปลี่ยนราคาในระบบ ซึ่งมักออนไลน์ข้อมูลกันกับสาขาทุกแห่ง บางทีความห่วยมาจากการตลาดส่วนกลางนั่นแหละ เปลี่ยนราคาแล้วไม่แจ้งสาขา กับอีกกรณีหนึ่ง ความห่วยอยู่ที่พนักงานสาขา ขี้เกียจ ละเลย ส่วนกลางแจ้งเปลี่ยนราคาแล้ว แต่ไม่ยอมเปลี่ยนป้ายตาม เพราะรู้สึกว่าเสียเวลาไปนั่งติดป้ายราคาใหม่ รู้สึกว่าตัวเอง “เสียเวลา” แต่ไม่รู้สึกว่าลูกค้า “เสียความรู้สึก”

แต่หากมีกรณีปรับราคาขึ้นโดยส่วนกลาง แต่หน้าร้านยังไม่ทันได้เปลี่ยนป้ายราคาใหม่ ต้องแจ้งลูกค้าก่อนการคิดเงิน บอกก่อนเลยว่า มีการปรับเปลี่ยนราคาขึ้นราวกี่บาท แต่เนื่องจากเปลี่ยนป้ายราคาไม่ทัน ต้องขออภัย แบบนี้ลูกค้าได้รับรู้ก่อน จะได้ทำใจรอไว้ก่อน

ร้านไหน มีลักษณะเช่นนี้ ควรมีการสร้างระบบการสื่อสารระหว่างแผนกให้ชัดเจน เมื่อมีการปรับเปลี่ยนราคาโดยการตลาดส่วนกลาง มีข้อบังคับว่าต้องแจ้งใครบ้าง ภายในเวลาเท่าไหร่ ทางที่ดี ควรเผื่อระยะเวลาให้หน้าร้านมีเวลาเปลี่ยนป้ายด้วย ไม่ใช่ส่วนกลางคีย์ราคาเปลี่ยนใหม่วันนี้ มีผลวันนี้ทันที หน้าร้านจะเอาเวลาตอนไหนไปเปลี่ยนป้ายราคา

ขั้นตอน ต้องแจ้งให้หน้าร้านสาขาต่างๆ รับรู้ก่อน ให้เวลากี่วันในการเปลี่ยนป้ายราคา แล้วจึงถึงวันประกาศใช้ราคาใหม่ ทางที่ดี มีการทำป้ายประกาศแจ้งลูกค้าไว้ด้วยยิ่งดี ว่าตั้งแต่วันที่เท่าไหร่ จะมีการปรับราคาขึ้น สำหรับคนที่ค้าขายออนไลน์ การไม่แจ้งราคา ไม่เพียงผิดกฎหมายเท่านั้น แต่ทำให้เสียเวลาด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งคนขายและคนซื้อ

ต้องมาเสียเวลาถามตอบกันไปมา แต่หากมีการบอกกล่าวราคา และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนแต่ต้น คนซื้อตัดสินใจได้ทันที ว่าจะสั่งซื้อหรือไม่ ถ้าเป็นการขายออนไลน์ สิ่งที่ต้องบอกไว้ให้ชัดเจน ประกอบด้วย ราคาสินค้า ราคาค่าขนส่ง ถ้ามีตัวเลือกด้านขนส่งหลายเจ้า ควรระบุให้ชัดเจนแต่ละเจ้า เป็นไปได้บอกไปด้วยว่าระยะเวลาการจัดส่งกี่วันโดยประมาณ เพราะบางเจ้าแพงกว่า แต่ส่งเร็วกว่า ลูกค้าใจร้อนไม่แคร์ราคา อยากได้เร็วยอมจ่ายแพง

ในกรณีที่มีบริการเก็บเงินปลายทาง ถ้าต้องการบวกเพิ่มค่าเก็บปลายทาง ก็ระบุไปให้ชัดเจนด้วย บางทีอาจนำมาใช้เป็นการเพิ่มยอดขายได้ด้วย ซื้อเพิ่มอีกเท่านี้ชิ้น ฟรีค่าเก็บปลายทาง ซื้อเพิ่มอีก ฟรีขนส่ง ฯลฯ ป้ายราคา อย่ามองข้ามโดยเด็ดขาด พึงระลึกไว้เสมอว่า ป้ายผิด ถ้าราคาจริงแพงกว่าป้าย ลูกค้าหนีหายแน่นอน ป้ายผิด ราคาจริงถูกกว่าป้าย ลูกค้าเบิกบาน อยากกลับมาใช้บริการบ่อยขึ้น ยอดขายอาจดีขึ้น…แต่ขาดทุน

…พึงระวังร้านค้าเองอาจขาดทุนยับ เพราะขายดีเกิน…ยิ่งขายเยอะ ยิ่งขาดทุน…