เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย! รู้หรือไม่ว่า ทุกวันนี้เราทาน ข้าวแช่ กันผิดวิธีมาโดยตลอด

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย! รู้หรือไม่ว่า ทุกวันนี้เราทาน ข้าวแช่ กันผิดวิธีมาโดยตลอด

ในช่วงอากาศร้อนๆ แบบนี้ หลายคนแก้ร้อนด้วยการทานเครื่องดื่มเย็นๆ หรือนั่งอยู่ในห้องแอร์สบายๆ แต่ก็มีอีกหลายคนที่เฝ้ารอที่จะได้ทาน ข้าวแช่ เมนูคลายร้อนแบบฉบับคนสมัยโบราณ

เดิม ข้าวแช่ ถือเป็นอาหารพื้นบ้านของชาวมอญ ที่มีชื่อเรียกว่า เปิงด้าจก์ (ပုၚ် ဍာ်) แปลว่า ข้าวน้ำ หรือ เปิงซังกราน (ပုၚ် သၚ်ကြာန်) แปลว่า ข้าวสงกรานต์ ซึ่งนิยมทำสังเวยเทวดาและถวายพระสงฆ์ในตรุษสงกรานต์ ต่อมา ข้าวแช่ เป็นที่รู้จักมากขึ้น

เมื่อเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น เจ้าจอมเชื้อสายมอญทางเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) ได้ติดตามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไปถวายราชการที่พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี และได้ถ่ายทอดการทำข้าวแช่แก่บ่าวไพร่จนแพร่หลายในจังหวัดเพชรบุรีและในราชสำนัก เมื่อสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2453 แล้ว ข้าวแช่จึงได้เผยแพร่ไปนอกวังและถูกปรับปรุงเพิ่มกลายเป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน

คุณพงศ์-นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด

คุณพงศ์-นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ได้เล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เกี่ยวกับ ข้าวแช่ ให้ฟังเพิ่มว่า ทุกวันนี้มีโอกาสไปนั่งทานข้าวแช่กับคนมากหน้าหลายตา ส่วนใหญ่ก็บอกว่า อร่อย ชอบทาน แต่พอเอาเข้าจริงๆ ก็จิ้มๆ ทานคำ สองคำ ก็บอกอิ่ม

ที่จริงคนโบราณทานข้าวแช่ในฤดูร้อน และเขาทานเอาอิ่มใน 1 มื้อเลยนะ ไม่ได้มีอาหารอะไรอย่างอื่นมาเสริม กับข้าวข้าวแช่ส่วนใหญ่เป็นของทอด ซึ่งก็ไม่รู้ว่าทำไม คนโบราณจึงทำ ของทอดทานกับข้าวแช่น้ำแข็งเหมือนกัน มันดูไม่น่าจะไปกันได้เลย

เราเห็นอยู่เป็นนิจว่า คนรุ่นใหม่ที่ทานข้าวแช่ มักตักกับข้าวแช่ ไปใส่ในถ้วยข้าวที่มีน้ำแข็ง แล้วจึงตักเข้าปากรับประทาน ซึ่งคนโบราณเขาไม่ทำกัน เพราะไขมันที่อยู่ในกับข้าว จะออกมาลอยจับเป็นไขลอยขึ้นอยู่หน้าชาม ทำให้ไม่น่ารับประทานต่อเป็นอย่างมาก

การรับประทานข้าวแช่ที่ตามวัฒนธรรมไทยเขาทำกันมานมนาน คือ เวลาตั้งสำรับ เขาจะมีจานเคียงวางไว้ให้ เพื่อให้ผู้รับประทาน ตักกับข้าวที่ต้องการมาไว้แล้วค่อยๆ ตักกับข้าวหรือใช้ส้อมจิ้มกับข้าวเข้าปาก แล้วจึงตักข้าวแช่ตามเข้าปากไป เพราะทำอย่างนี้จะทำให้ชามข้าวแช่ของคุณน่ารับประทาน และใครพบใครเห็น ก็จะทราบได้ว่า ผู้รับประทานเป็นผู้มีวัฒนธรรมในการรับประทานอาหาร

ข้าวแช่ดอยคำในวันนี้ ทำแบบย่อๆ โดยจับตำรับของบ้านโน้นบ้านนี้ มาใส่ปนๆ กันไป เพราะ ทำอย่างของที่บ้าน คงไม่มีทางทำขายได้แน่ๆ แต่กระนั้นก็ตาม ก็มีกับข้าว 3 ใน 5 อย่าง ที่เป็นของอิศรเสนา ได้แก่ ลูกกะปี พริกหยวกยัดไส้หมูกุ้ง และ หมูสับกับปลาเค็ม ส่วนอีก 2 อย่าง ได้แก่ หัวไชโป๊ คราวนี้ ทำแบบเมืองเพชร คือ เอาหัวใช้โป๊เส้นมาต้มกับหัวกะทิ แล้วจึงใส่น้ำตาลมะพร้าวหอมๆ ผัดจนเส้นใส จึงใช้ได้ สุดท้าย หมูฝอย โรยน้ำตาลทราย และหอมเจียว ขอสารภาพว่า ซื้อหมูฝอยมา แล้วมาโรยน้ำตาลกับหอมเจียวเอา

สำหรับผักเคียง แตงกวา หรือ มะม่วงดิบ เขาเอาไว้ทานตัดเลี่ยน ส่วนกระชายสด เอาไว้ทานแนมกับลูกกะปิ เพื่ออรรถรสที่สดชื่นขึ้น และเป็นการไล่ลมออกจากท้องหลังรับประทานข้าวแช่แล้ว เพราะเมื่อเวลาทานข้าวแช่มักจะมีอาการท้องอืดตามมา คนโบราณจึงใช้สมุนไพรมาช่วยขับลมในท้องออกจะได้สบายตัวนั่นเอง

เผยแพร่แล้วเมื่อ 31 มีนาคม พ.ศ. 2566