วิกฤตเมืองในอนาคต ทำอยู่ยาก-เครียด “นวัตกรรมความยั่งยืน” คือ ทางรอด

นักวิจัยเมือง ชี้ วิกฤตเมืองในอนาคต อยู่ยาก-ลำบาก-เครียด คาดปี 2050 ฝุ่น PM2.5 เพิ่ม 5 เท่าและ CO2 พุ่ง 8 เท่า บวกภัยแล้งและน้ำทะเลหนุน กระทบผู้คนทั่วโลก งานเสวนา MQDC Sustainnovation Forum 2022 นวัตกรรมและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคน คือทางรอดเดียวของสังคมเมือง

ศูนย์วิจัยชี้สภาพภูมิอากาศและมลภาวะของเมืองในปัจจุบัน รวมถึงแนวโน้มในอนาคตชี้ไปในทิศทางที่เลวร้ายลงอย่างต่อเนื่อง เผยฉากทัศน์จำลองเมืองกรุงเทพฯ ในปี 2050 เป็น 2 รูปแบบ คือเมืองในโดมฟอกอากาศที่มีความเหลื่อมล้ำของชีวิตความเป็นอยู่แบบสุดขั้ว

และการโยกย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ของสังคมมนุษย์ที่ยากจะหลีกเลี่ยง ชี้แก้ได้ด้วยนวัตกรรมการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน (Sustainnovation) และจัดกระบวนการทำงานด้านวิศวกรรมแนวใหม่ รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้คนที่จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเราในวันข้างหน้าอย่างมหาศาล

ในงานเสวนา MQDC Sustainnovation Forum 2022 เมืองเปลี่ยน คนต้องปรับ รับมือวิกฤตอย่างไร” ซึ่งเกิดจากการผนึกกำลังของ 4 องค์กรสำคัญด้านการพัฒนาเมืองทั้ง FutureTales Lab, RISC, Creative Lab และ Unisus-EEC ซึ่งจัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เปิดเผยข้อมูลงานวิจัยของสภาพเมืองแห่งอนาคตที่มีแนวโน้มน่าเป็นห่วง พร้อมระดมแนวคิดและโซลูชั่นจากทีมนักวิจัย นักวิชาการ สถาปนิก วิศวกร และนวัตกร ในการรับมือกับวิกฤตต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนกรุงเทพมหานคร ในฐานะ Resilient City ไปสู่ทิศทางที่เหมาะสมและยั่งยืนมากที่สุด

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab)

ฉากทัศน์เมืองอันไม่พึงประสงค์

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab) ซึ่งทำหน้าที่ศึกษาวิจัย คาดการณ์อนาคตและแนวโน้มการอยู่อาศัยในสังคมเมือง ได้นำเสนอการคาดการณ์อนาคตของเมืองปี 2050 โดยพิจารณาจากข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก อัตราการใช้พลังงาน และพฤติกรรมของผู้คน พบว่า โลกในอนาคตจะเต็มไปด้วยมลภาวะที่ทำให้การอยู่อาศัยของมนุษย์กลายเป็นเรื่องที่ยากกว่าในปัจจุบันอย่างเทียบไม่ติด

โดยอุณหภูมิทุกแห่งจะสูงขึ้นเฉลี่ย 1.5 องศาเซลเซียส ทำให้น้ำทะเลหนุนสูงขึ้นมากกว่า 1 เมตร ซึ่งส่งผลทำให้มีผู้คนต้องย้ายถิ่นฐานมากถึง 200 กว่าล้านคน และมีผู้ที่ต้องประสบภัยพิบัติกว่า 400 ล้านคน จากการขาดแคลนน้ำและอาหาร รวมถึงภัยแล้งสุดขั้ว ซึ่งประเทศไทยก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น เพราะการเคลื่อนย้ายประชากรและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในปัจจุบันล้วนเชื่อมโยงถึงกันทั่วโลก และสิ่งที่จะเกิดขึ้นค่อนข้างแน่นอนคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศจะสูงขึ้น 8 เท่า ในขณะที่ฝุ่น PM2.5 จะสูงขึ้น 5 เท่าของในปัจจุบัน

ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ยังได้เปิดเผยฉากทัศน์เมืองกรุงเทพฯ ในอนาคตปี 2050 เป็นครั้งแรกต่อสื่อมวลชน จากการคาดการณ์อนาคต ได้ฉากทัศน์ออกมาเป็น 2 รูปแบบ คือ ฉากทัศน์เมืองในโดมฟอกอากาศขนาดยักษ์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยเฉพาะกลุ่มของคนที่มีต้นทุนและโอกาสทางสังคมสูงเท่านั้น ในขณะที่ชุมชนส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตอยู่นอกโดม ต้องเผชิญกลุ่มหมอกควันและมลพิษ และวิกฤตน้ำท่วมอยู่เสมอ และ ฉากทัศน์การโยกย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ของสังคมมนุษย์ เพื่อแสวงหาพื้นที่ใหม่เพื่อดำรงชีวิต ซึ่งทั้ง 2 ฉากทัศน์นี้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นจริง

อย่างไรก็ตาม เรายังมีโอกาสร่วมมือกันปรับทิศทางอนาคตเมืองให้ดีขึ้น โดยการร่วมกันเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับนโยบาย การพัฒนาโครงการ และพฤติกรรมของผู้คนบนแนวคิด “Not Only Urbanscape But Also Humanscape”

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC)

เทรนด์การพัฒนาเมืองเพื่อสร้าง Urbanscape ที่ยั่งยืน

จากแนวโน้มเมืองในอนาคตของไทยที่น่าจะเกิดวิกฤตที่สร้างความตื่นตระหนกและความเครียดต่อผู้คนสูงมาก (Shocks & Stresses) และจากข้อมูลที่บ่งชี้ว่าในอนาคตประชากรบนโลกจะอาศัยอยู่ในเมืองมากถึง 70% รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) จึงมองว่าการแก้ไขต้องเริ่มต้นที่สร้างสังคมเมือง

โดยอิงจากกรอบความคิดสำหรับโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่พัฒนาขึ้นให้มีความพร้อมรับมือ (Resilience) กับความไม่แน่นอนของอนาคตที่จะมาถึง หรือ “Resilience Framework for Future Cities : กลยุทธ์การรับมือเพื่อเมืองแห่งอนาคต” โดยเฟรมเวิร์กนี้ประกอบด้วย กลุ่มปัจจัยความไม่แน่นอนใน 3 ด้าน ได้แก่ Nature & Environment, Living & Infrastructure และ Society & Economy

ทั้งนี้ ปัญหาในแต่ละกลุ่มจะประกอบไปด้วย กลุ่มธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Nature & Environment) อาทิ สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ปัญหาเรื่องน้ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก น้ำท่วม ภัยแล้ง เป็นต้น กลุ่มที่สอง เป็นเรื่องการใช้ชีวิตและโครงสร้างพื้นฐาน (Living & Infrastructure)

เช่น อุบัติการณ์ไม่คาดฝัน ปัญหาสุขภาพ และการหยุดชะงักของบริการสาธารณูปโภค และสุดท้าย กลุ่มสังคมและเศรษฐกิจ (Society & Economy) เช่น วิกฤตเศรษฐกิจและค่านิยมทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เหตุการณ์ความไม่สงบ ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน และประเด็นทางสังคม

เนื่องจากพื้นที่แต่ละแห่งในประเทศไทยมีความแตกต่างกัน จึงน่าจะประสบปัญหาต่างๆ กันไป จึงต้องพิจารณาแยกรายพื้นที่และนำ Resilience Framework มาจับเพื่อตั้งรับและปรับตัวได้ตรงจุด อาทิเช่น การสร้าง Framework เฉพาะกลุ่มปัญหาเรื่องน้ำของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เราอาจพิจารณาความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นโดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมจากฝนตกหนักและน้ำท่วมจากแม่น้ำหนุนสูง และลดน้ำหนักด้านการป้องกันภัยแล้งลง เป็นต้น

ซึ่งเมื่อเราพิจารณากลุ่มของปัญหาทั้งหมดให้ครบถ้วน เราจะได้ Framework ที่สมบูรณ์ซึ่งเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่หรือเมืองที่มีความจำเป็นแตกต่างกัน ทำให้เราสามารถมองเห็นโซลูชั่นในการสร้างเมืองนั้นๆ รวมถึงการป้องกันและแก้ปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างตรงจุด และลงทุนเฉพาะสิ่งที่จำเป็นอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่เฉพาะการแสวงหาโซลูชั่นที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน แต่เรายังสามารถจับมือกับพาร์ตเนอร์ต่างๆ เพื่อพัฒนาโซลูชั่นและเทคโนโลยีขึ้นใหม่ที่ตอบโจทย์เมืองแห่งอนาคตได้ดียิ่งขึ้น

ภายใต้กรอบ Resilience Framework For City Developments แต่ละด้านจะมีความท้าทายปลีกย่อยที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ด้วยเหตุนี้  RISC จึงดำเนินการวิจัยและบูรณาการหลายศาสตร์ เพื่อนำเสนอโซลูชั่นที่สร้างความอยู่ดีมีสุขของทุกสรรพสิ่ง (For All Well-Being) ผ่านการประยุกต์ใช้องค์ความรู้และสร้างนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ภายใต้ RISC 5 Research Hubs ได้แก่

  1. Plants & Biodiversity : ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ
  2. Air Quality : ศึกษาปัจจัยในการสร้างคุณภาพอากาศที่ดีทั้งภายในและภายนอกอาคาร
  3. Happiness Science : ศึกษาการทำงานของสมองเพื่อสร้างความสุขด้วยวิทยาศาสตร์
  4. Materials & Resources : ศึกษาวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและดีต่อสุขภาวะ
  5. Resilience : ศึกษาด้านความเสี่ยงและภัยพิบัติในสภาพแวดล้อมเพื่อวางแผนรับมือ
คุณเกชา ธีระโกเมน ประธานคณะกรรมการ กลุ่มบริษัท EEC และประธานกรรมการ บริษัท ยูนิซัส กรีน เอ็นเนอร์จี จำกัด

อีกหนึ่งพันธมิตรของงานเสวนาครั้งนี้อย่างกลุ่มบริษัทอีอีซี ซึ่งเป็นทีมวิศวกรที่ปรึกษาชั้นแนวหน้าที่มีผลงานทั้งในและต่างประเทศมามากกว่า 46 ปี โดยมี คุณเกชา ธีระโกเมน ประธานคณะกรรมการ กลุ่มบริษัท EEC และประธานกรรมการ บริษัท ยูนิซัส กรีน เอ็นเนอร์จี จำกัด ยังได้ร่วมเสนอแนวทางการทำงานด้านวิศวกรรมที่ต้อง “คิดในทิศทางใหม่” อย่างจริงจัง จากเดิมที่หน้าที่ของทีมวิศวกรในโครงการคือเพียงแค่ทำให้น้ำไหลไฟสว่างและแอร์เย็น แต่ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงอนาคต ทีมวิศวกรจะต้องเปลี่ยนกระบวนการทำงาน โดยเริ่มจากการออกแบบระบบของโครงการที่อยู่อาศัยตั้งแต่ระดับพื้นฐานเลยทีเดียว

ยกตัวอย่างเช่น แต่เดิมวิศวกรจะออกแบบระบบปรับอากาศเพื่อทำให้อาคารเย็น แต่วันนี้ต้องเปลี่ยนเป็นออกแบบระบบให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกเย็นสบายโดยใช้ระบบปรับอากาศให้น้อยที่สุดหรือไม่ใช้เลย เพื่อเปลี่ยนจาก Heat Urban ให้กลายเป็น Cool Urban และแทนที่จะเป็นโครงการที่สร้างมลภาวะ แต่กลับเป็นโครงการที่ช่วยลดมลภาวะได้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแนวทางและวิธีการคิดทั้งหมดเพื่อแก้ปัญหามวลความร้อนในเขตเมืองที่ต้นเหตุ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้พลังงานของทุกระบบวิศวกรรม เป็นเหตุให้เกิดความร้อนสะสม

หนึ่งในโครงการตัวอย่างที่สามารถใช้ระบบวิศวกรรมและนวัตกรรมการออกแบบแนวใหม่เพื่อสร้างเมืองในอุดมคติให้เป็นจริงนั้น ได้แก่ โครงการ The Forestias ซึ่งมีการออกแบบอาคารที่หายใจได้ (Breathable Building) ที่มีการถ่ายเทอากาศที่ดีโดยไม่ต้องใช้พลังงาน บวกกับการปลูกป่าในโครงการในอัตราส่วนถึง 50% เพื่อช่วยฟอกอากาศให้มีคุณภาพดีขึ้น ทำให้โครงการสามารถลดความร้อนของพื้นที่ สร้างออกซิเจน เพิ่มการหมุนเวียนอากาศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

และการใช้ระบบ Zero Water Waste Model คือการนำน้ำเสียในโครงการมาบำบัดและ Reuse กลับมาใช้ในโครงการ 100% โดยไม่ปล่อยออกสู่ทางระบายน้ำสาธารณะ เรียกว่าใช้ทรัพยากรน้ำจากภายนอกโครงการน้อยมาก แถมโครงการยังทำหน้าที่เป็นพื้นที่รับน้ำเพื่อช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมทั้งในโครงการและพื้นที่ใกล้เคียงได้อีกด้วย

รวมถึงโซลูชั่นการออกแบบเชิงสถาปัตยกรรมที่ช่วยสร้างความรู้สึกสบายแก่ผู้อยู่อาศัยโดยไม่ต้องใช้พลังงานเลย เหล่านี้ถือเป็นแม่แบบและจุดเริ่มต้นที่สามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาโครงการอื่นๆ และพัฒนาพื้นที่เมืองเพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของผู้คน โดยไม่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรม

คุณภารุต เพ็ญพายัพ ผู้อำนวยการอาวุโส ครีเอทีฟ แล็บ (Creative Lab) และผู้อำนวยการโครงการ MQDC Metaverse

Humanscape การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ซึ่งเริ่มได้จากเราทุกคน

การพัฒนาเมืองแห่งอนาคตจะขาดความเข้าใจในพฤติกรรมมนุษย์รวมถึงแรงจูงใจให้เกิดการปรับตัวไปไม่ได้เลย ดังที่ คุณภารุต เพ็ญพายัพ ผู้อำนวยการอาวุโส ครีเอทีฟ แล็บ (Creative Lab) และผู้อำนวยการโครงการ MQDC Metaverse หนึ่งในพันธมิตรการจัดงานเสวนาครั้งนี้เชื่อว่า “มนุษย์เป็นทั้งต้นทางและปลายทางของการพัฒนาเมืองให้ยั่งยืน”

ด้วยเหตุนี้ ครีเอทีฟ แล็บ จึงได้ทำการศึกษาปัญหาและความต้องการของมนุษย์ เพื่อนำเสนอนวัตกรรมการออกแบบประสบการณ์ (Experience Innovation) และวิธีคิดทางธุรกิจแบบใหม่ ครีเอทีฟ แล็บ ได้ประยุกต์ใช้แนวคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) และการออกแบบบริการ (Service Design) เข้ามาใช้ให้เกิดการออกแบบวิถีชีวิตที่ยั่งยืน โดยในบางกรณี การแก้ไขปัญหาใหญ่ระดับโลก สามารถทำได้จริงจากการปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันของประชากร รวมถึงพวกเราทุกคนที่สามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่วันนี้

ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนคือหัวใจสำคัญ

ดังที่ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ได้ชี้ไว้ในเบื้องต้นว่า การเปลี่ยนแปลงอนาคตจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐซึ่งมีหน้าที่กำหนดนโยบายที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม บริษัทผู้พัฒนาโครงการที่ต้องเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงอนาคตเมือง และถือประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดความสำเร็จของบริษัทนอกจากเม็ดเงิน และส่วนสำคัญที่สุดคือ ภาคประชาชนที่ต้องร่วมขับเคลื่อนการสร้างเมืองแห่งอนาคตที่ยั่งยืน ที่ซึ่งทุกคนจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขทั้งกับเพื่อนมนุษย์ กับสิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมถึงโลกใบนี้