กระแส ECO แรง️! ลูกค้ายอมจ่ายสินค้า-บริการ รักษ์โลก เพิ่มจากราคาปกติ

เทรนด์ รักษ์โลก มาแรง️ ลูกค้ายอมจ่ายสินค้า-บริการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นไม่เกิน 20% จากราคาปกติ

รักษ์โลก – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำรวจพฤติกรรมและมุมมองของผู้บริโภคที่มีต่อปัญหาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และแนวโน้มความสนใจลงทุนด้าน ESG โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้

ปัญหามลพิษ และภัยธรรมชาติ เป็นปัญหาที่ผู้บริโภคเผชิญและมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากที่สุด ส่งผลให้ผู้บริโภคตระหนักและมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ลดหรืองดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้ง เลือกใช้ผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ แยกขยะหรือนำของเหลือกลับมาใช้ใหม่

พร้อมทั้งมีการพิจารณาเลือกใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงานในขณะที่การเลือกโดยสารรถสาธารณะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคส่วนน้อยให้ความสำคัญ

ทั้งนี้ ผู้บริโภคยินดีจ่ายเงินสูงขึ้นเพื่อบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในกรอบไม่เกิน 20% เมื่อเทียบกับราคาปกติ โดยจะพิจารณาปัจจัยด้านความน่าเชื่อถือของผู้ผลิต และตัวผลิตภัณฑ์ว่ายังคงมีคุณภาพ มีความปลอดภัย และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้จริงประกอบการตัดสินใจด้วย

พร้อมทั้งคาดหวังให้ผู้ผลิตและภาคธุรกิจออกผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้หรือขยะ การออกผลิตภัณฑ์ประเภทเติม (refill) เพื่อลดปริมาณขยะ และมีความสนใจที่จะซื้อสินค้าประเภทสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันเป็นอันดับแรก

สำหรับประเด็นมุมมองด้าน ESG ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีความเห็นว่าภาคธุรกิจควรนำปัจจัยด้าน ESG มาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจ และจะใช้ประเด็นด้าน ESG เพื่อประกอบการตัดสินใจพิจารณาลงทุน ซึ่งจะแบ่งสัดส่วนลงทุนในบริษัทที่มีการดำเนินการด้าน ESG ประมาณ 10-20% ของพอร์ตการลงทุน

โดยให้ความสนใจในกิจการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีอาหารและเครื่องดื่ม ตามลำดับ ทั้งนี้ บางส่วนมองว่าการลงทุนด้าน ESG อาจได้ผลตอบแทนต่ำในระยะสั้น และมีแนวโน้มที่จะขายสินทรัพย์ทางการเงินหากกิจการที่ลงทุนมีปัญหาเกี่ยวกับประเด็นด้าน ESG