เผยแพร่ |
---|
เปิดกลเกมธุรกิจการขนส่ง กับ กลยุทธ์ตัดราคา พร้อมแนวทางคุมกติกาจาก สขค. ก่อนเสี่ยงเข้าข่ายใช้อำนาจเหนือตลาด
การเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจดิจิทัลจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้รูปแบบการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ทำให้แพลตฟอร์มออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อรูปแบบการซื้อขายสินค้าและบริการ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ หรือ E-Commerce ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ จากรายงานของ KKP Research โดยกลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้ประเมินว่ามูลค่าตลาด E-Commerce ของไทยในปี 2563 มีมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านบาท โดยขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 42 ต่อปี ในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 และยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตเพิ่มขึ้น แม้สถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง
เมื่อธุรกิจ E-Commerce เติบโตอย่างรวดเร็ว และผู้บริโภคยังมีพฤติกรรมหันมาใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น แต่สิ่งที่ตามมาคือธุรกิจขนส่งพัสดุในประเทศไทยได้กลายมาเป็นเค้กก้อนใหญ่ที่กำลังถูกแบ่งมากขึ้น เกิดเป็นแรงจูงใจให้คู่แข่งรายใหม่เข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น และมีระดับการแข่งขันที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ทางด้านข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ซึ่งรวบรวมจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า ปี 2563 ที่ผ่านมา ตลาดธุรกิจขนส่งพัสดุมีมูลค่าตลาดกว่า 60,000 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 18.5 จากปีก่อนหน้า
ในขณะเดียวกัน เมื่อมีสัญญาณว่ากลุ่มผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ที่เข้าสู่ตลาด และอาจกลายเป็นคู่แข่งที่สำคัญในอนาคต ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีชื่อคุ้นหูผู้บริโภคอยู่ก่อนแล้ว จึงต้องหาทางรักษาส่วนแบ่งตลาดของตน ไม่ยอมให้คู่แข่งรายใหม่มาแย่งผู้บริโภคและส่วนแบ่งตลาดของตนไปได้ ซึ่งกลยุทธ์หลักที่ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่นำมาใช้ในปัจจุบัน คือ การตัดราคากันเองของผู้ประกอบธุรกิจขนส่ง
แน่นอนว่าการกำหนดค่าบริการที่ต่ำกว่าคู่แข่งรายอื่นนั้น เป็นวิธีจูงใจผู้บริโภคให้หันมาใช้บริการได้ดีที่สุด
ยิ่งมีผู้เล่นรายใหม่จำนวนมากเข้าสู่ตลาด ยิ่งทำให้การแข่งขันด้านราคามีความเข้มข้นมากขึ้น กลยุทธ์การตัดราคาจึงกลายมาเป็นกลยุทธ์หลักของผู้ประกอบธุรกิจ ในการจูงใจผู้บริโภคให้หันมาใช้บริการ เพื่อให้ได้มาซึ่งปริมาณขนส่งพัสดุจำนวนมาก
ผู้ประกอบธุรกิจต่างพยายามเสนอการให้บริการด้วยราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่ง ทำให้อัตราค่าบริการขนส่งลดลงอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลรายงานศึกษาธุรกิจขนส่งพัสดุของ EIC ที่สำรวจอัตราค่าบริการขนส่งพัสดุ พบว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยลดลงมาตั้งแต่ปี 2559 ยิ่งไปกว่านั้นปี 2562 เป็นต้นมาก็มีแนวโน้มที่ชัดเจนว่าอัตราค่าบริการจะลดลงไปอีกอย่างน้อยร้อยละ 18
ทั้งนี้ แม้ว่าตลาดที่มีระดับการแข่งขันเพิ่มขึ้น จะส่งผลดีต่อผู้บริโภคในด้านของคุณภาพสินค้าหรือบริการที่ดีขึ้น อีกทั้งการตัดราคาจะดูเหมือนเป็นกำไรของผู้บริโภคที่ได้รับประโยชน์เต็มที่จากราคาค่าบริการถูกๆ แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง คู่แข่งที่เงินทุนไม่มากพอหรือสายป่านไม่ยาวพอ ก็อาจสู้เกมตัดราคาแบบนี้ไม่ไหว ทำให้ขาดทุนและมีเหตุให้ผู้ประกอบธุรกิจรายนั้นต้องออกจากตลาดไปในที่สุด
เมื่อระดับการแข่งขันในตลาดขนส่งพัสดุน้อยลง ผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่รอดอาจกลับมาตั้งราคาค่าบริการสูงขึ้นในภายหลัง และในอนาคตก็จะเหลือเพียงผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ไม่กี่รายที่อยู่รอด อันจะก่อให้เกิดการผูกขาดของโครงสร้างตลาดต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม การกำหนดราคาค่าบริการขนส่งพัสดุที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องนี้ จึงเป็นภารกิจหน้าที่ที่สำคัญของ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขัน
ทางการค้า (สขค.) ในการกำกับดูแลโครงสร้างตลาดและพฤติกรรมการแข่งขันทางการค้าของตลาดธุรกิจขนส่งพัสดุในประเทศไทย ระหว่างผู้ประกอบธุรกิจทั้งรายใหญ่และรายย่อย รวมถึงผู้เล่นรายใหม่ในตลาด
โดย บทบัญญัติในมาตรา 50 พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ได้กำหนดข้อห้ามเกี่ยวกับการกำหนดราคาอย่างไม่เป็นธรรมของผู้มีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่ากระทำความผิดจริง ผู้นั้นมีความผิดทางอาญาต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด หรือทั้งจำทั้งปรับ
ดังนั้น การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจต้องอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรมทางการค้าที่ดี เพื่อบรรยากาศการแข่งขันทางการค้าที่เสรีและเป็นธรรม คำนึงถึงประโยชน์ต่อทั้งผู้บริโภค ต่อคู่แข่ง และต่อเศรษฐกิจโดยรวม