งานออนไลน์ ทำที่บ้าน รายได้ดี สมัครยังไง ไม่ให้โดนหลอก?

งานออนไลน์ ทำที่บ้าน รายได้ดี สมัครยังไง ไม่ให้โดนหลอก?
งานออนไลน์ ทำที่บ้าน รายได้ดี สมัครยังไง ไม่ให้โดนหลอก?

งานออนไลน์ ทำที่บ้าน รายได้ดี สมัครยังไง ไม่ให้โดนหลอก?

ปัจจุบัน การทำงานออนไลน์ มีประกาศรับสมัครให้เห็นกันอยู่เนืองๆ แม้จะสะดวกที่ทำจากที่บ้าน ไม่ต้องเดินทาง แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกหลอกได้เหมือนกันนะ ทั้งหลอกทำงานฟรี หลอกลงคอร์สเสียเงินอบรมก่อนได้ทำจริง เป็นต้น

เว็บไซต์ จ๊อบไทย ได้เผยวิธีการป้องกันการโดนหลอกจากโพสต์ประกาศงานบนโลกออนไลน์ ดังนี้

1. รายละเอียดงานต้องครบถ้วน : สิ่งแรกที่ต้องทำคืออ่านรายละเอียดต่าง ในโพสต์ประกาศงานนั้นให้ดี ไม่ว่าจะเป็น

  • ประกาศงานตำแหน่งอะไร
  • มีหน้าที่อะไรบ้าง
  • ชื่อบริษัทหรือร้านค้าอะไร
  • ที่ทำงานตั้งอยู่ที่ไหน ย่านไหน
  • มีสวัสดิการรึเปล่า
  • ใน Job Description หรือรายละเอียดงาน มีเขียนอะไรเพิ่มเติมไหม
  • เงินเดือนเป็นยังไงบ้าง
  • ช่องทางการติดต่อ มีอีเมลที่เชื่อถือได้ หรือมีเบอร์โทรศัพท์ที่เป็นเบอร์สำนักงานไหม

 เมื่ออ่านจบทั้งหมดแล้วเราควรจะเห็นภาพคร่าว แล้วว่า งานนั้นเป็นงานแบบไหน ถ้ารายละเอียดงานยังคงมีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน อ่านจบแล้วยังงง เหมือนได้ข้อมูลไม่ครบ ก็อย่าเพิ่งไว้ใจประกาศงานนั้นเป็นอันขาด

2. ข้อเสนองานต้องสมเหตุสมผล เราไม่ได้ประโยชน์มากจนเกินจริง : ถึงจะอ่านรายละเอียดงานจนเห็นภาพพอสมควรแล้ว แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะพิจารณาความสมเหตุสมผลของตำแหน่งงานนั้น ด้วย

ถ้าบางที่เสนอรายรับให้สูง แบบที่ว่าสูงเกินกว่าที่ตำแหน่งนั้น ควรจะได้ตามปกติ แถมยังได้ทำงานแค่ไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน หรือต่อสัปดาห์ ไม่พอยังมีสวัสดิการดี ให้อีกเยอะแยะ พออ่านมาแล้วมันเหมือนกับว่าเราดูเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบมากจนเกินไป แล้วทางบริษัทที่รับสมัครจะไม่เสียเปรียบเหรอ? นี่แหละคือประเด็นที่น่าสงสัยสุด เพราะมันอาจจะเป็นแค่การเอาประโยคเหล่านี้มาหลอกล่อเพื่อให้คนอ่านที่สนใจติดต่อไปก็ได้ 

3. ภาษาในประกาศงานต้องน่าเชื่อถือ : ทุกครั้งที่อ่านโพสต์ประกาศงานให้สังเกตการเขียนประกาศให้ดีว่ามีการใช้ภาษาเป็นยังไง บริษัทต่าง ที่เปิดรับพนักงานมักจะไม่มองข้ามเรื่องนี้

เพราะมันเป็นอะไรที่มีผลกับความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์องค์กรเป็นอย่างมาก ประกาศงานที่เป็นของจริงส่วนใหญ่จะใช้ภาษาที่เป็นทางการ ใช้ถ้อยคำที่ถูกต้อง ไม่พิมพ์ผิดจนน่าเกลียด เพราะจะต้องมีการตรวจทานคำก่อนโพสต์ประกาศงาน

4. เช็กบริษัทหรือร้านค้าที่ประกาศงานให้ดีว่ามีอยู่จริง : ถึงเราจะอ่านรายละเอียดงานจนรู้ชื่อบริษัทหรือร้านค้านั้นแล้วก็อย่าเพิ่งวางใจไป เดี๋ยวนี้โพสต์ประกาศงานออนไลน์บางโพสต์ถึงขั้นตั้งชื่อบริษัทปลอมเพื่อหลอกให้คนหางานติดต่อไป

หรือบางรายก็ปลอมตัวเป็นบริษัทหรือองค์กรที่มีชื่อเสียงเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น ดังนั้น เราต้องเช็กให้ชัวร์ก่อนว่ามีบริษัทนั้นอยู่จริงรึเปล่า ถ้ามีจริง เขาดำเนินงานเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอะไร มีออฟฟิศหรือสถานที่ทำงานตั้งอยู่ที่ไหน

อย่างไรก็ตาม ถึงจะเช็กจนแน่ใจว่าเป็นบริษัทที่มีอยู่จริงและน่าเชื่อถือประมาณหนึ่ง ก็อย่าเพิ่งสมัครจนกว่าจะรู้บริษัทนี้กำลังประกาศหาพนักงานในตำแหน่งนี้จริง รึเปล่า โดยคุณสามารถเข้าไปดูในแพลตฟอร์มหางานออนไลน์ เพื่อหาว่ามีประกาศงานในตำแหน่งที่เราเห็นจากโพสต์ก่อนหน้านี้อยู่จริงหรือไม่

หรือถ้าในโพสต์ประกาศงานที่เราเห็นตอนแรกมีแนบเบอร์โทรติดต่อกลับเอาไว้ในโพสต์ คุณจะโทรไปถามเพื่อความแน่ใจเลยก็ได้ แต่ก่อนจะโทรก็อย่าลืมเช็กหมายเลขที่ได้มาให้ดีก่อนว่าเป็นเบอร์ของบริษัทนั้นจริง

5. ใช้แอพคัดกรองเบอร์โทร เพิ่มความสบายใจเวลาต้องโทรคุยกัน : ก่อนที่จะเริ่มกดโทรออกเพื่อติดต่อถามรายละเอียดงาน คุณต้องแน่ใจก่อนว่าเบอร์ที่ได้มานั้นไม่ใช่เบอร์สแปมหรือเบอร์ของบุคคลที่ไม่น่าไว้วางใจ

ซึ่งเทคโนโลยีเดี๋ยวนี้ก็พอจะช่วยเราในเรื่องนั้นได้แล้ว โดยเราสามารถเอาเบอร์ไปเช็กในแอพคัดกรองเบอร์โทรอย่างแอพ Whoscall หรือ Truecaller เพื่อความปลอดภัยก่อนโทรถามรายละเอียดงาน เราสามารถพิมพ์เบอร์โทรที่เราสงสัยลงไปในแอพ เพื่อคัดกรองว่าเบอร์นั้น เป็นเบอร์ของพนักงานส่งของ ขายประกัน หรือเป็นเบอร์โทรที่ไม่น่าไว้ใจรึเปล่า

นอกจากนี้ แอพเหล่านี้ยังสามารถช่วยเราบล็อกเบอร์สแปมได้ ถ้ามีคนปลอมตัวเป็น HR โทรมาหาเราและแกล้งทำทีเหมือนโทรมาเพื่อติดต่องาน มันก็จะเด้งโชว์ขึ้นมาก่อนตัดสินใจรับสายว่าเบอร์นี้เป็นเบอร์ที่ไม่ควรรับสาย

6. ถ้าขอให้ส่งข้อมูลส่วนตัว หรือจ่ายเงินก่อนทำงาน ยิ่งต้องดูให้ดี : หากคุณยังไม่ได้สัมภาษณ์งานใด เลย หรือได้คุยแค่สักครู่หนึ่งผ่านทางโทรศัพท์แล้วอีกฝ่ายบอกว่าคุณผ่านสัมภาษณ์งานแล้ว

และขั้นต่อไปคือจะให้คุณส่งข้อมูลส่วนตัวอย่างสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ล่ะก็ ระวังไว้ให้ดี เพราะข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่ควรตกไปอยู่ในมือของคนที่เราเองก็ไม่รู้จักดี ซึ่งอาจถูกเอาไปใช้อย่างผิดกฎหมายได้

บางครั้งการหลอกเอาข้อมูลคนหางานอาจมาในรูปแบบของลิงก์ปลอม ที่เห็นแล้วเหมือนโพสต์ฟอร์มกรอกข้อมูลสมัครงานทั่วไป แต่พอกดเข้าไปที่ลิงก์จริง แล้วเป็นลิงก์ปลอมที่ไม่ได้พาเข้าไปที่ฟอร์มการสมัครงานที่เชื่อถือได้ แต่พาเข้าไปที่เว็บไซต์ปลอมที่หลอกให้เรากรอกข้อมูลส่วนตัวแบบละเอียดยิบเลยต่างหาก

นอกเหนือจากการขอข้อมูลแล้ว บางคนอาจเจอกรณีให้โอนจ่ายเงินค้ำประกันก่อนเริ่มงาน แต่พอจ่ายแล้วเขาก็เชิดเงินหายไปเลย ทำเอาเรานั่งงงว่าควรเอายังไงดี สิ่งที่ทุกคนควรรู้เกี่ยวกับการเรียกเก็บเงินค้ำประกันก็คือ ตามกฎหมายแรงงานมาตรา 10

นายจ้างไม่สามารถเรียกหลักประกันการทำงานจากเราได้ ยกเว้นแต่ว่าจะเป็นงานที่คนเป็นลูกจ้างจะต้องรับผิดชอบการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ โดยมีงานที่นายจ้างสามารถเรียกหลักประกันความเสียหายจากการทำงานได้ 7 ประเภท ดังนี้

  1. งานสมุห์บัญชี
  2. งานพนักงานเก็บหรือจ่ายเงิน
  3. งานควบคุมหรือรับผิดชอบเกี่ยวกับวัตถุมีค่า คือ เพชร พลอย เงิน ทองคำ ทองคำขาว และไข่มุก
  4. งานเฝ้าหรือดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินของนายจ้าง หรือที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายจ้าง
  5. งานติดตามหรือเร่งรัดหนี้สิน
  6. งานควบคุมหรือรับผิดชอบยานพาหนะ
  7. งานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการคลังสินค้า ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้เช่าทรัพย์ ให้เช่าซื้อ ให้กู้ยืม รับฝากทรัพย์ รับจำนอง รับจำนำ รับประกันภัย รับโอนหรือรับจัดส่งเงินหรือการธนาคาร ทั้งนี้ เฉพาะลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ควบคุมเงินหรือทรัพย์สินเพื่อการที่ว่านั้น

ถ้างานที่เราตั้งใจจะสมัครไม่ได้อยู่ในงาน 7 ประเภทนี้ เช่น งานพนักงานต้อนรับ แล้วดันโดนเรียกเงินค้ำประกันก่อนเริ่มงานก็แนะนำว่าให้ถอยออกมาได้เลยก่อนที่จะต้องเสียเงินจำนวนไม่น้อยไปฟรี

7. สมัครงานกับช่องทางที่ไว้ใจได้ : บางครั้งเราอาจจะเห็นโพสต์ประกาศงานจากบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัว หรือ ช่องทาง Social Media อื่น ดังนั้น นอกจากอ่านรายละเอียดงานแล้วเราก็ต้องดูให้ดีว่าโปรไฟล์ของคนที่ลงโพสต์ประกาศงานมีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหนเพราะในโลกออนไลน์เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเรากำลังคุยอยู่กับใคร รูปโปรไฟล์ของเขาคือรูปตัวเขาเองจริง รึเปล่า

เพราะฉะนั้น ลองเช็กดูว่าบัญชีส่วนตัวนั้น มีประวัติการทำงานของเขาขึ้นอยู่บนโปรไฟล์รึเปล่า รูปโปร์ไฟล์ที่ลงเป็นแบบไหน ชื่อบัญชีมีความน่าเชื่อถือพอจะเป็น HR หรือคนประกาศงานไหม

ถ้าเราบังเอิญไปเจองานน่าสนใจแต่คนโพสต์ชื่อบัญชีว่ารักจริงง ชวิ้งปิ้วปิ้วววหรือชื่ออื่น ที่ไม่ใช่ทั้งภาษาไทยหรืออังกฤษแต่กลับพิมพ์ประกาศงานเป็นภาษาไทยได้อย่างน่าสงสัยก็อย่าไว้ใจจะดีกว่า