ผู้เขียน | สุมิตรา จันทร์เงา |
---|---|
เผยแพร่ |
มองย้อนกลับไปเมื่อครั้งตู้โทรศัพท์สาธารณะยังคงเป็นที่ต้องการของทุกคน เทียบกับตอนนี้แล้วเชื่อว่าหลายคนคงใจหาย
สามสิบปีที่แล้ว ตู้โทรศัพท์สาธารณะไม่ต่างจากร้านเซเว่นอีเลฟเว่น แทบทุกปากซอย สี่แยก หัวมุมถนน หน้าโรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ จะมีตู้ตั้งโดดเด่นสะดุดตาผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา บ่อยครั้งที่ถึงกับต้องต่อคิวกันเลยทีเดียว แต่เดี๋ยวนี้ตู้โทรศัพท์สาธารณะกลายเป็นกองขยะ ที่หลบนอนของคนจรหมอนหมิ่น บางทีก็เป็นบ้านของหมาข้างถนน ตัวเครื่องก็โปเก หูห้อยต่องแต่ง ตู้หยอดเหรียญใช้งานไม่ได้ ฯลฯ
ใครผ่านไปแถวศูนย์บำรุงรักษาตู้โทรศัพท์สาธารณะของ TOT ซอยงามวงศ์วาน 17 นนทบุรี ใกล้ทางขึ้นทางด่วนงามวงศ์วานคงได้เห็นสุสานตู้โทรศัพท์และเครื่องโทรศัพท์สาธารณะย่อยๆ ถูกทิ้งเป็นซากกองอยู่เป็นร้อยริมรั้วด้านใน รอนำไปประมูลขายเป็นเศษเหล็ก
เพราะเดี๋ยวนี้แทบหาคนใช้โทรศัพท์สาธารณะไม่ได้ เพราะมีมือถือกันหมดแล้ว ยุคสมัยเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน ชีวิตคนก็เปลี่ยน
ล่าสุดเท่าที่ติดตามข่าว ทีโอทีเลิกสั่งผลิตตู้เพิ่มแล้ว ตู้รุ่นใหม่ “สีน้ำเงิน” ที่ใช้อยู่ตอนนี้จริงๆ แล้วคือตู้เก่า “สีส้มเขียว” ที่ไปเก็บกลับมาซ่อมเป็นอะไหล่ เครื่องไหนพอใช้ได้ก็เอามาพ่นสีใหม่เป็นสีน้ำเงิน
พนักงานทีโอทีคนหนึ่งให้ข้อมูลกับสำนักข่าวอิศราว่า ปัจจุบันคนใช้โทรศัพท์สาธารณะกันน้อยมาก บางพื้นที่แทบไม่มีคนใช้เลย บางตู้ตอนไขออกมาไม่มีเงินอยู่เลยสักบาทเดียว!
แต่ตู้โทรศัพท์สาธารณะยังมีความจำเป็นอยู่ โดยเฉพาะในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินเร่งด่วน ถือเป็นบริการด้านสวัสดิการสังคมที่รัฐต้องจัดหาให้ประชาชน
อย่างไรก็ตาม ตู้โทรศัพท์สาธารณะในบ้านเราใกล้เข้าสู่ภาวะสูญพันธุ์ เมื่อไม่นานมานี้กรุงเทพมหานครได้ไล่รื้อถอนตู้โทรศัพท์สาธารณะครั้งใหญ่กว่า 4,000 ตู้ โดยเฉพาะตู้ที่ชำรุดเสียหายไม่ได้ใช้ประโยชน์ ตู้ที่มีการติดตั้งผิดกฎหมายและกีดขวางทางเท้า
บวกกับสมาร์ตโฟนล้ำสมัยเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของผู้คน พกง่ายใช้สะดวก แถมยังราคาถูก ส่งผลให้ปัจจุบันแทบจะไม่มีใครใช้บริการตู้โทรศัพท์สาธารณะอีกต่อไปแล้ว
ตู้โทรศัพท์สาธารณะในไทยเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อปี 2522 โดยบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นำโทรศัพท์แบบหยอดเหรียญเข้ามาติดตั้งในเขตนครหลวงจำนวน 100 ตู้ ก่อนเจริญก้าวหน้าต่อยอดเพิ่มจำนวนเป็น 200,000 ตู้ทั่วประเทศ
ช่วงที่โทรศัพท์สาธารณะได้รับความนิยมสูงสุดมีการติดตั้งทั่วประเทศกว่า 200,000 ตู้ ปัจจุบันเหลืออยู่ 180,000 ตู้ เฉพาะกทม.มี 50,000 ตู้ สมัยนั้นโทรศัพท์หยอดเหรียญในกรุงเทพฯ สร้างรายได้เฉลี่ยสัปดาห์ละ 3,000-4,000 บาท ต่อตู้ แต่เดี๋ยวนี้แทบไม่เหลือกำไร มีแต่ต้นทุนบักโกรก
ปัจจุบัน ทีโอทีแจ้งรายได้เฉลี่ยเหลือแค่ 200 บาท ต่อตู้ต่อเดือน ในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดได้ไม่ถึง 100 บาทเทียบกับค่าดูแลรักษาเริ่มต้น 200 บาทขึ้นไปต่อตู้ ต่อเดือน
แต่ในเมื่อเป็นบริการของรัฐก็ต้องจัดให้แม้จะแบกต้นทุนในการดูแลรักษา รวมแล้วตัวเลขขาดทุนประมาณ 2,000 บาท ต่อเครื่อง
สิ่งที่จะทำให้ตู้โทรศัพท์สาธารณะอยู่รอดก็คือ การพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการใช้งานปัจจุบันควบคู่กับหารายได้อื่นมาช่วยเติม อันนี้ต้องคอยดูกันต่อไป
เท่าที่เห็นตอนนี้ในต่างประเทศเขาพยายามพัฒนาใช้ประโยชน์ตู้โทรศัพท์หมดสภาพเหล่านี้หลากหลายวิธี โดยเฉพาะที่สหราชอาณาจักร ซึ่งถือว่าเป็นต้นแบบของตู้โทรศัพท์สีแดงอันสวยงามเป็นเอกลักษณ์ มีการปรับนำไปใช้ประโยชน์หลายอย่างตามภาพที่หามานำเสนอ
ในลอนดอนถ้าเบื่อการนั่งทำงานชิลๆ ตามร้านกาแฟก็หนีมาใช้ตู้โทรศัพท์สีแดงที่ถูกเปลี่ยน Co-working space เปิดให้ทุกคนมาเช่าได้
ภายในบู๊ธโทรศัพท์จะมีเครื่องพริ้นต์ เครื่องสแกน ปลั๊ก ตัวปล่อยสัญญาณ Wi-Fi และจอมอนิเตอร์ขนาด 25 นิ้ว แถมชาหรือกาแฟฟรีๆ
อันที่จริงมันอาจจะเป็นความฝันของชาวลอนดอนก็ได้นะ ที่จะได้มีห้องทำงานส่วนตัวสุดคลาสสิกแบบนี้ แถมค่าเช่าก็ไม่แพงด้วย
ตู้โทรศัพท์เหล่านี้จะมีชื่อใหม่ว่า Pod Works ราคาสมาชิกอยู่ที่ 1,000 กว่าบาท ต่อเดือน และเมื่อเป็นสมาชิกแล้วจะเข้าไปใช้ Pod Works ได้ทุกที่ในเมือง ซึ่งมีอยู่มากกว่า 20 แห่ง
Jonathan Black ซีอีโอของ Bar Works ที่อยู่เบื้องหลังโครงการนี้ กล่าวว่า โดยมากแล้วคนอาจจะเข้ามาใช้แค่สัปดาห์ละครั้ง เช่น คนที่ต้องเตรียมตัวก่อนประชุม หรืออาจจะเป็นคนที่ต้องการความเป็นส่วนตัวขณะส่งอีเมล เป็นต้น
โครงการนี้เป็นแค่หนึ่งไอเดียที่ถูกนำมาใช้กับตู้โทรศัพท์สาธารณะในลอนดอนเท่านั้น เพราะนอกจากบริการแบบนี้แล้วก็ยังมีสลัดบาร์ และนิทรรศการแสดงศิลปะ และสถานีนวดผ่อนคลาย
ที่นิวยอร์ก ตู้โทรศัพท์สาธารณะถูกเปลี่ยนเป็นจุดปล่อยสัญญาณ Wi-Fi ในประเทศญี่ปุ่นและจีนมีคนหัวใสเอาตู้ไปกรุใหม่ให้แข็งแรงใช้เป็นอ่างเลี้ยงปลา
ในกรุงเทพฯ มันถูกเปลี่ยนเป็นจุดซ่อมแซมจักรยาน และ TOT ร่วมกับเอกชน พัฒนาบริการโทรศัพท์สาธารณะใหม่แบบมัลติมีเดียในชื่อเว็บ Pay Phone ที่สนามบินสุวรรณภูมิ สามารถใช้งาน Internet ได้ แต่ถ้านำมาติดตั้งในพื้นที่สาธารณะทั่วไปตอนนี้ยังไม่คุ้มค่าการลงทุน
จริงๆ แล้วสามารถปรับให้ตู้โทรศัพท์สาธารณะทำกิจการเกี่ยวกับการเงินได้ เช่น เติมเงินมือถือ ทำนิติกรรมทางการเงินต่างๆ อย่างในหลายประเทศที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะสามารถเติมเงินบัตรรถไฟฟ้า-รถเมล์ และโอนเงินได้ด้วย ประชาชนก็จะได้รับความสะดวกมากขึ้น
แต่ทุกอย่างมีต้นทุนสูงและยังไม่คุ้มค่าลงทุนตามหลักเศรษฐศาสตร์ ตอนนี้เอาเรื่องราวมาให้อ่านแบ่งปันกันไปก่อนค่ะ