แจกสูตร กัญแปบเค็ม เมนูเพิ่มมูลค่า อาหารว่างไทยโบราณด้วย กัญชา

แจกสูตร กัญแปบเค็ม เมนูเพิ่มมูลค่า อาหารว่างไทยโบราณด้วย กัญชา

ระแสของ กัญชง-กัญชา ยังคงได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะอยู่ในช่วงวิกฤตไวรัสครองเมือง ซึ่งสมุนไพรสุดฮอต โดยเฉพาะ กัญชา ในทางการแพทย์ ถือเป็นสมุนไพรที่เข้าทางยาร้อน ช่วยเรื่องทางลม นอนไม่หลับ ผ่อนคลาย คลายกังวล อีกทั้งมีสรรพคุณช่วยเรื่องอาการปวดเมื่อยได้ด้วย ในสมัยก่อน มีการใช้กัญชาในการปรุงรส เพื่อช่วยชูรสให้อาหารมีรสชาติดีขึ้น ช่วยให้เจริญอาหารในคนที่ทานข้าวไม่ได้

พืชสุดฮอตนี้ จึงนำมาทำเป็นสินค้าได้หลากหลาย ทั้งอุปโภค บริโภค โดยเพจ สมุนไพรอภัยภูเบศร ได้นำ ใบกัญชา มาประยุกต์ใส่ขนมไทยเพื่อเพิ่มมูลค่า จนออกมาเป็น กัญแปบเค็ม ที่จะทำทานหรือทำขายได้ไม่ยาก โดยมีขั้นตอนและวิธีทำ ดังนี้

ส่วนประกอบน้ำกะทิราด

1. หัวกะทิ 1/4 ถ้วยตวง

2. แป้งข้าวเจ้า 1 ช้อนชา

ส่วนประกอบไส้ขนม

1. เนื้อกุ้งสับ 1/2 ถ้วยตวง

2. มะพร้าวขูดขาว 1/2 ถ้วยตวง

3. รากผักชี 1 ช้อนโต๊ะ

4. ใบกัญชาบดผง 1 กรัม

5. กระเทียม 1 ช้อนโต๊ะ

6. พริกไทยล่อน 1 ช้อนโต๊ะ

7. น้ำตาลทราย 1/4 ถ้วยตวง

8. เกลือ 1 ช้อนชา

9. ใบมะกรูดซอย 3 ใบ

10. น้ำมันพืช 1 ช้อนโต๊ะ

ส่วนประกอบแป้งห่อ

1. แป้งข้าวเหนียว 3 ถ้วยตวง

2. น้ำคั้นกัญชาสด 1 1/2 ถ้วยตวง

วิธีทำ

1. ซอยใบมะกรูด ทิ้งไว้ จากนั้นหันไปเตรียมไส้ขนม โดยการโขลกรากผักชี กระเทียม และพริกไทยล่อนเข้าด้วยกัน

2. เมื่อโขลกวัตถุดิบเข้ากันดีแล้ว ให้นำไปผัดด้วยไฟกลางจนมีกลิ่นหอม จากนั้นใส่ผงกัญชาแห้งลงไป ตามด้วยกุ้งสับ มะพร้าวขูด ผัดจนสุกแล้วปรุงรสด้วยน้ำตาลทรายและเกลือ

3. เตรียมน้ำกะทิราด ด้วยการนำหัวกะทิ แป้งข้าวเจ้า และเกลือ มาผสมกัน จากนั้นคนให้แป้งละลายโดยใช้ไฟปานกลาง

4. เตรียมแป้งห่อขนม โดยผสมแป้งข้าวเหนียวกับน้ำคั้นกัญชาสด แล้วนวดให้เข้ากัน

5. ตั้งน้ำ ใส่ใบเตยเพื่อเพิ่มกลิ่นหอมให้ขนม ระหว่างรอน้ำเดือด ให้ปั้นแป้งโดยการกดเป็นแผ่นบางๆ จากนั้นนำไปต้มในน้ำเดือดจนสุก

6. ตักแป้งขึ้นมาพักไว้บนมะพร้าวขูด แล้วนำไส้ที่เตรียมไว้ ใส่ลงบนแผ่นแป้ง โดยห่อพับครึ่งแล้วบีบริมแผ่นแป้งให้ติดกัน

7. จากนั้นราดด้วยน้ำกะทิ เป็นอันเสร็จพร้อมรับประทาน

ข้อควรระวัง ผู้ที่ไม่เคยรับประทานกัญชา ควรรับประทานแต่น้อย พร้อมสังเกตอาการว่ามีผลข้างเคียงจากการทานหรือไม่ อาทิ เกิดความมึนงง สับสน วิงเวียนศีรษะ หรือง่วงซึมได้ สามารถดื่มน้ำมากๆ หรือดื่มน้ำผึ้งมะนาว หรือ ชาชงรางจืด จะทำให้อาการดีขึ้น ดังนั้น จึงไม่ควรรับประทานขณะขับรถหรือใช้เครื่องจักรในการทำงาน

อีกทั้งผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี, หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร, ผู้ที่มีโรคตับและไตบกพร่อง รวมถึงผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด และผู้ที่ใช้ยาวาร์ฟารินหรือยาที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ไม่ควรรับประทาน