เทรนด์ E-Commerce จีน น่าสนใจ ที่ผู้ประกอบการไทยควรจับตามอง

เปิดเทรนด์ E-Commerce จีน น่าสนใจ ที่ผู้ประกอบการไทยควรจับตามอง

อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด สวนทางกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยความที่ผู้บริโภคมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป หันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นโดยเฉพาะชาวจีน ซึ่งถือเป็นผู้บริโภคที่ใครๆ ก็อยากได้มาเป็นลูกค้า บริษัทวิจัยตลาด Coresight Research ได้รายงานเทรนด์ที่ผู้ที่สนใจรวมถึงผู้ประกอบการไทยควรจับตามอง ดังนี้

 

1. Livestreaming การตลาดสุดแสนสำคัญ

มีแนวโน้มที่ร้านค้าต่างๆ จะหันมาทำ Livestreaming เองแทนการจ้าง Key Opinion Leaders (KOLs) เนื่องจาก มีต้นทุนต่ำกว่าช่องทางอื่น การทำความเข้าใจในการแนะนำสินค้าได้ลึกซึ้งมากกว่า และสามารถเพิ่มความถี่ของการไลฟ์ได้มากขึ้นด้วย

โดย KPMG ร่วมกับ AliResearch ซึ่งเป็นหน่วยวิจัยของ Alibaba คาดการณ์ว่า ในปี 2564 ตลาด Livestreaming E-Commerce ของจีนจะเติบโตต่อเนื่อง และมีมูลค่ารวมกว่า 2 ล้านล้านหยวน เติบโตถึงร้อยละ 384 จากปี 2562

  1. วิดีโอขนาดสั้นจะครองส่วนแบ่งมากขึ้น

โต่วอิน (Douyin), TikTok และ ไคว่โฉ่ว (Kuaishou) เติบโตอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยข้อมูล ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 Douyin มีผู้ใช้รวมกว่า 524 ล้านคน เติบโตร้อยละ 8.5 ส่วน Kuaishou มีผู้ใช้รวมกว่า 408 ล้านคน เติบโตร้อยละ 20.4 แพลตฟอร์มเหล่านี้กำลังแย่งส่วนแบ่งตลาด E-Commerce จากเจ้าเก่าอย่าง Alibaba JD.com และพินตัวตัว (Pinduoduo) ด้วยกลยุทธ์ผนวกรวม User-generated Content และการช็อปปิ้งเข้าด้วยกัน

3. มินิโปรแกรมเครื่องมือส่งเสริมแบรนด์

ในปีที่ผ่านมา Baidu และ Wechat ใช้ช่องทางมินิโปรแกรมในการสื่อสารกับลูกค้าโดยตรง รวมถึงใช้เป็นอีกหนึ่งช่องทางการขายสำคัญ ซึ่ง Wechat รายงานยอดขายผ่านมินิโปรแกรมในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม 2563 ว่ามีการเติบโตถึงร้อยละ 115 นอกจากนี้ Wechat ยังได้เพิ่มฟังก์ชั่นไลฟ์ในมินิโปรแกรม และ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 มีผู้ขายกว่า 1 แสนรายที่ใช้ฟังก์ชั่นไลฟ์นี้แล้ว

4. กลยุทธ์ C2M ดันอีคอมเมิร์ซโต

โมเดล C2M (Consumer-to-Manufacturer) เป็นการใช้ข้อมูลทางดิจิทัล ได้แก่ ข้อมูลเชิงลึก ระบบ AI ที่สามารถช่วยโรงงานดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยนำเทคโนโลยีและ Big Data มาช่วยให้ผู้ผลิตสามารถผลิตสินค้า ลดระยะเวลาและต้นทุนในการพัฒนาสินค้า สามารถผลิตสินค้าที่ตรงต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด โดย JD.com รายงานว่า ยอดขายสินค้า C2M ของ JD.com ในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2563 เติบโตถึงร้อยละ 654 โดยบริษัทวิจัย Vzkoo ของจีนคาดการณ์ว่า ตลาด C2M จีนจะมีมูลค่า 1.4 ล้านล้านหยวน ภายในปี 2565

5. ตลาดแบรนด์หรูเติบโตอย่างต่อเนื่อง

เนื่องจากแบรนด์หรูต่างๆ หันมาใช้ช่องทางออนไลน์ในการขายมากขึ้น รวมกับข้อจำกัดในการเดินทางไปต่างประเทศ ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวจีนหันมาซื้อสินค้าแบรนด์หรูในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยในปีที่ผ่านมา ตลาด E-Commerce แบรนด์หรูมีมูลค่ารวม 9.3 หมื่นล้านหยวน และ McKinsey คาดว่าตลาดนี้จะมีมูลค่ากว่า 1.47 แสนล้านหยวน ภายในปี 2568 โดยมีอัตราการเติบโต 9.6% ต่อปี

6. Shopping Festival เครื่องมือดึงดูดลูกค้า

เทศกาลช็อปปิ้งยังคงดึงดูดลูกค้าและกระตุ้นยอดขายได้เป็นอย่างดี ซึ่งเทศกาลช็อปปิ้ง 11.11 ปีที่แล้วของ Alibaba มีมูลค่ายอดขายรวมทุกช่องทาง (GMV) อยู่ที่ 4.982 แสนล้านหยวน สูงกว่ายอดขายรวมของปี 2019 กว่า 1 เท่าตัว โดยหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ยอดขายพุ่งทะยาน เป็นเพราะ Alibaba จัดงานติดต่อกัน 11 วัน (1 – 11 พ.ย. 2563) ไม่ได้จัดเพียงวันเดียวเหมือนปีก่อนๆ

ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์ ธนาคารกรุงเทพ