เปิดบทเรียนสำคัญของ SMEs วิกฤตโควิด-19 ให้อะไรบ้าง ?

เปิดบทเรียนสำคัญของ SMEs วิกฤตโควิด-19 ให้อะไรบ้าง ?

เหตุเพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยกันครั้งใหญ่ จากเหตุการณ์ครั้งนี้ มีผู้ประกอบการหลายรายสู้ไม่ไหวจนต้องปิดตัวไป แต่ก็มีหลายรายที่พยายามปรับตัวพยุงธุรกิจให้กลับมามียอดขายได้อีกครั้ง จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เหล่าผู้ประกอบการได้บทเรียนในหลายๆ เรื่อง ที่สามารถสรุปมาได้ ดังนี้

  1. ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน

จากการระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายๆ ธุรกิจ มีลูกค้าน้อยลง ยอดขายตก หรือไม่สามารถเปิดร้านได้ชั่วคราว ส่งผลให้รายได้ที่เคยมีและน่าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ กลับลดลงจนไม่พอกับรายจ่าย และต้องเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอดกันยกใหญ่ ทั้งการมองหาช่องทางหรือพัฒนาทักษะเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติม ขายของออนไลน์ ทำอาหารขาย ขับรถส่งของ สอนพิเศษ หรืองานอื่นๆ เพื่อให้มีรายได้มากกว่าหนึ่งทาง เพราะเมื่อรายได้จากงานหลักลดลง รายได้เสริมเหล่านี้ อาจช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นได้

  1. ร้านค้าออนไลน์แหล่งรายได้สำคัญ

คนส่วนใหญ่รักในความสะดวกสบาย ยิ่งเมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิดเข้ามา ลูกค้าจึงกลัวที่จะออกจากบ้านหรือเดินทางไปจับจ่ายใช้สอย ธุรกิจขนาดเล็กก็หันมาให้ความสำคัญกับอีคอมเมิร์ซหรือเว็บไซต์ขายของออนไลน์กันมากขึ้น เพราะนี่เป็นหนึ่งในไม่กี่ช่องทางที่จะช่วยให้ร้านกับลูกค้าเข้าถึงกันได้ แม้โควิดจะจบไป แต่ร้านค้าออนไลน์ก็ยังคงเป็นแหล่งรายได้ ที่จำเป็นต้องมีควบคู่กับหน้าร้าน เพราะลูกค้าบางกลุ่มยังไม่วางใจที่จะออกมาซื้อของหรือช็อปปิ้งหลังวิกฤตอยู่ดี

  1. ธุรกิจควรให้ความสำคัญสูงกับเงินสดหรือสภาพคล่อง

เมื่อยอดขายหรือคำสั่งซื้อลดลง ก็ย่อมทำให้ธุรกิจขาดรายรับ ธุรกิจทุกธุรกิจย่อมมีต้นทุน ไม่ว่าจะค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าสำนักงาน จึงจำเป็นต้องเพิ่มสภาพคล่องและกระแสเงินสด เพื่อเตรียมรับวิกฤตในอนาคต การมีวินัยทางการเงินของผู้ประกอบการในช่วงเวลาปกติ จึงเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างความยืดหยุ่นและภูมิคุ้มกันต่อวิกฤตในอนาคตได้ดีขึ้น

  1. ความเชื่อมั่นและใส่ใจลูกค้ายังสำคัญเสมอ

การมีตัวตนของร้านและการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ก็ยังเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญเสมอมา ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังโควิด นอกจากนี้ คุณอาจจะต้องมองหากลยุทธ์การตลาดใหม่ๆ เพื่อดึงดูดลูกค้า หรือเป็นการสร้างความประทับใจ ให้ลูกค้าเห็นว่าไม่ใช่แค่พวกเขาที่อยากซัพพอร์ตร้านโปรด แต่ร้านก็ต้องการซัพพอร์ตลูกค้าด้วยเช่นกัน

  1. ปรับโมเดลการทำงานช่วงวิกฤตให้สอดรับกับสถานการณ์

วิกฤตโควิด ส่งผลให้องค์กรต้องปรับแนวทางในการทำงาน ทั้งการทำงานที่บ้าน (Work From Home) ในลักษณะงานที่ทำได้ และงานในโรงงานที่จำเป็นต้องปิดโรงงานชั่วคราว หรือเปิดโรงงานแบบมีการรักษาสุขอนามัยในที่ทำงานอย่างเคร่งครัด หรือจะเป็นการติดตั้งฉากกั้นกระจกหน้าพนักงานเก็บเงิน รวมถึงการติดต่อกับลูกค้า เช่น จัดส่งสินค้าแบบไม่สัมผัส ณ จุดที่กำหนด และตัวเลือกการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แบบไม่ต้องสัมผัส เป็นต้น

  1. มองสถานการณ์รวมและต้องรู้จักปรับตัว

เหล่าผู้ประกอบการต้องเรียนรู้ในการมองสถานการณ์ให้เป็นตั้งแต่เนิ่นๆ รู้จักสัญญาณเตือนต่างๆ เพื่อจะได้ปรับตัวเร็ว เพื่อที่ไม่ว่าจะเจอสถานการณ์ไหน ก็สามารถประคองธุรกิจให้ไปต่อได้ เพราะหากผู้ประกอบการคนไหนมองเกมออกตั้งแต่เนิ่นๆ แล้ววางแผนและลงมือทำเร็ว ไม่ว่าสถานการณ์ไหนๆ ก็เอาตัวรอดได้

ขอบคุณที่มา เว็บไซต์ ธนาคารกรุงเทพ