10 เคล็ดลับพยุงธุรกิจ SMEs ควรรับมืออย่างไรกับโควิดระลอกใหม่

10 เคล็ดลับพยุงธุรกิจ SMEs ควรรับมืออย่างไรกับโควิดระลอกใหม่

โควิด-19 ได้เข้ามาสร้างปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว ที่หลายๆ ประเทศ ยังไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้ นำมาซึ่งความสูญเสีย ทั้งความเจ็บป่วยล้มตายของจำนวนประชากร และผลกระทบต่างๆ เศรษฐกิจซบเซา รายได้หดหาย ธุรกิจและอาชีพเก่าสั่นคลอน ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ การปรับตัว จึงเป็นเรื่องสำคัญ

เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด คิดว่า จุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านไปเรียบร้อยแล้ว ในมุมมองก่อนโควิด จึงต้องมีการปรับความคิดให้เป็น Positive มากขึ้น แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นมา แน่นอนว่ามุมมองย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย อีกทั้งเมื่อช่วงกลางเดือนเกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้น จึงทำให้เกิดคำถามที่ว่า จะมีการแพร่ระบาดรอบต่อๆ ไปอีกหรือไม่

โดยสิ่งที่ ดร.ภูษิต แนะนำให้เหล่า SMEs ปรับมุมมองและทำเป็นประจำ เพื่อรักษาธุรกิจเอาไว้ให้ได้ในช่วงที่สถานการณ์ไม่มีความแน่นอนแบบนี้ มีอยู่ด้วยกัน 10 ข้อ ได้แก่

1. สำรวจกระแสเงินสด : ดร.ภูษิต กล่าวว่า ไตรมาส 4 ถือเป็นจุดพีกในการทำมาค้าขายของเหล่า SMEs ที่จะเติบโตกันอย่างมหาศาล แต่ปีนี้ไม่เหมือนปีก่อนๆ เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจับจ่ายใช้สอย กระแสเงินสดที่คาดการณ์กันว่าจะได้รับ คงต้องลดน้อยลง การสำรวจกระแสเงินสด จึงเป็นสิ่งสำคัญมากในตอนนี้ ผู้ประกอบการควรสำรวจว่า กระแสเงินสดในมือมีเพียงพอที่จะใช้จ่ายในธุรกิจไปได้อีกนานเท่าใด

2. เน้นออนไลน์ : SMEs ควรจัดตั้งทีมในการดูแลออนไลน์โดยเฉพาะ เพราะปัจจุบัน ออนไลน์ แทบกลายมาเป็นช่องทางสร้างรายได้หลักๆ ให้กับธุรกิจหลายๆ ธุรกิจมากกว่าการขายแบบออฟไลน์ อันเป็นผลมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และระบบอีคอมเมิร์ซที่เข้ามามีอิทธิพลต่อผู้คนมากขึ้น นั่นเอง

3. การขนส่ง : เป็นสิ่งสำคัญอีกสิ่งที่ SMEs ไม่ควรมองข้าม ต้องมีการดูแลเรื่องระบบขนส่ง ทำยังไงให้ต้นทุนการขนส่งมีราคาต่ำลง ขนส่งอย่างไรให้ไม่เกิดความเสียหายหรือเสียหายน้อยที่สุด

4. การทำการตลาด : สมัยก่อนอาจทำการตลาด หรือ มาร์เก็ตติ้ง ผ่านกูเกิ้ล แต่ปัจจุบัน Social Marketing อย่าง เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ถือเป็นการตลาดหลักๆ ที่เข้าถึงผู้บริโภค ดร.ภูษิต กล่าวต่อว่า แม้ Social Marketing จะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องมีทุกช่องทาง ควรมีความเข้าใจ และเลือกทำช่องทางใดช่องทางหนึ่งให้แข็งแกร่ง ตรงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

5. เจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่ม : ไม่ควรกวาดลูกค้าไปทั่ว เหมือนการขายหน้าร้านหรือออฟไลน์ เพราะลูกค้าช่องทางออนไลน์กับออฟไลน์นั้นต่างกัน การเจาะลูกค้าแบบลงรายละเอียดเฉพาะกลุ่ม จึงเป็นประโยชน์และได้ผลดีกว่าการเลือกแบบครึ่งๆ กลางๆ

6. การลดต้นทุน : ดร.ภูษิต กล่าวว่า นี่ถือเป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครหรือธุรกิจไหนก็ไม่อาจหนีพ้น โดยเฉพาะกับสถานการณ์การระบาดที่ไม่แน่นอนแบบนี้ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรลดต้นทุนทั้งหมด โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นต้นทุนคงที่ เช่น ค่าเช่าที่อาจไม่จำเป็นต้องเช่า ค่าน้ำ-ไฟ ค่าฟิกซ์คอสต์ต่างๆ

7. ซัพพลายเออร์ : ควรมีการพูดคุยเจรจากับซัพพลายเออร์ในเรื่องของการลดต้นทุน เช่น เครดิตเทอม ระยะเวลาในการจ่าย การสั่งของ สามารถซื้อของในปริมาณที่น้อยลงกว่าเดิมได้หรือไม่ ทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องสต๊อกของ เป็นต้น

8. การลดปริมาณหรือขนาดไซซ์ : เพราะเศรษฐกิจที่ไม่ดี กำลังคนซื้อจึงน้อยลง ส่งผลต่อภาคธุรกิจตามมา เมื่อผู้ประกอบการไม่สามารถลดต้นทุนได้ อาจลดขนาดไซซ์หรือปริมาณลง เปลี่ยนแพ็กเกจให้ใช้ทุนน้อยลง เพื่อประคับประคองให้ธุรกิจยังดำเนินต่อไปได้

9. ข้อมูลลูกค้า : เป็นข้อที่มีความสำคัญ ที่ SMEs ไม่ค่อยให้ความสำคัญ ดร.ภูษิต กล่าวว่า การมีข้อมูลของลูกค้า สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการขายสินค้าได้ เพราะกลุ่มลูกค้าที่เคยมีประสบการณ์กับแบรนด์และสินค้าแล้ว หากมีการติดต่อกลับไป อาจจะทำให้ขายสินค้าได้มากกว่าการมองหาลูกค้าใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ต่อสินค้าได้

10. กำลังใจในการทำงาน : ถือเป็นข้อที่สำคัญที่สุด เพราะในการทำงานทุกวันนี้ ขวัญและกำลังใจของพนักงาน ถือเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ประกอบการควรสร้างขวัญและกำลังใจให้พนักงาน เพื่อฝ่าฟันธุรกิจไปด้วยกัน เพราะต่างก็ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เมื่อพนักงานอยู่ได้ ผู้ประกอบการก็อยู่ได้นั่นเอง

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 1 มกราคม 2564