ผู้เขียน | สุมิตรา จันทร์เงา |
---|---|
เผยแพร่ |
“กูเกิล คาร์” (Google’s Driverless Cars) คือยานยนต์ไร้คนขับที่ผลิตและออกแบบโดยบริษัทกูเกิล ให้เป็นรถซิตี้คาร์ไร้พวงมาลัย ไม่ต้องใช้คนขับ เป็นหนึ่งในนวัตกรรมยานยนต์แห่งโลกเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่สุด
เซอร์เกย์ บริน (Sergey Brin) ซีอีโอกูเกิลเปิดตัวยานยนต์ขับเคลื่อนตัวเองได้รุ่นต้นแบบของบริษัทครั้งแรกบนเวทีงานประชุม Recode Code Conference ซึ่งจัดขึ้นที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ด้วยการโชว์วิดีโอที่แสดงว่าคันนี้สามารถทำงานอย่างไร้คนขับขี่อย่างแท้จริงหลังจากใช้เวลาพัฒนามายาวนานตั้งแต่ปี 2009 และเวลานั้นยังไม่พบว่ารถอัจฉริยะยังไม่เคยประสบอุบัติเหตุเลยระหว่างการทดสอบด้วยความเร็ว 25 ไมล์ ต่อชั่วโมง (ราว 40 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง)
“กูเกิล คาร์” ออกแบบให้เป็นรถใช้พลังงานไฟฟ้าขนาดเล็ก 2 ที่นั่ง พร้อมระบบเซ็นเซอร์ฝังใน ซึ่งทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์อัจฉริยะจนทำให้ตัวรถสามารถขับเคลื่อนตัวเองได้อย่างสมบูรณ์แบบ แถมยังหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้อย่างปลอดภัยด้วยระบบเซ็นเซอร์สปิน 360 องศา ซึ่งอยู่บนหลังคา สามารถมองเห็นสิ่งที่อยู่รอบตัวได้แบบเรียลไทม์ในช่วงระยะ 2 สนามฟุตบอล และยังมีกล้องด้านหน้าและด้านข้างรถเพื่อทัศนวิสัยในการมองเห็นเครื่องหมายและสัญญาณจราจร และป้องกันจุดบอดต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวรถ
ด้วยรูปร่างหน้าตาที่ใครเห็นก็ต้องบอกว่าน่ารักน่าขับ และด้วยขนาดกะทัดรัดเท่ารถสมาร์ทคาร์ทำให้กูเกิล คาร์ น่าใช้อย่างมาก
ภายในรถไม่มีพวงมาลัย ไม่มีเกียร์ และไม่มีแม้แต่เบรก มีเพียงที่นั่ง จอแสดงเส้นทาง และปุ่มบังคับปุ่มเดียว ว่าจะให้หยุดหรือวิ่งเท่านั้น!
เป้าหมายในการพัฒนารถยนต์อัจฉริยะของกูเกิลก็เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนนในสหรัฐอเมริกาที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 33,000 คน ต่อปี และหากนับรวมทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากกว่า 1.2 ล้านคน
ความสามารถอันโดดเด่นของรถยนต์อัจฉริยะ คือการตรวจจับความเคลื่อนไหวของวัตถุในรัศมี 200 เมตรจากตัวรถ เพื่อกำหนดทิศทางการขับแบบอัตโนมัติที่เชื่อมต่อกับจีพีเอส ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนได้แน่นอน
กูเกิลเชื่อว่า นี่คือการปฏิวัติเทคโนโลยีจะช่วยลดตัวเลขการสูญเสียบนท้องถนนลงได้มาก เพราะโอกาสที่รถจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุแทบเป็นศูนย์ เนื่องจากสามารถเบรกได้ทันก่อนจะไปชนท้ายรถคันอื่น เพราะมีระบบเซ็นเซอร์และระบบมองได้รอบทิศทางถึง 360 องศา
ที่สำคัญจะไม่เกิดปัญหาอุบัติเหตุจากการหลับในอย่างแน่นอน เพราะรถไม่ต้องใช้คนขับ แถมระบบประมวลผลอัจฉริยะยังสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ไม่คาดคิดได้ดีกว่ามนุษย์อีกด้วย
ต่อมาเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2014 กูเกิลได้นำรถยนต์ต้นแบบหลายคันออกมาเปิดตัวทดลองวิ่งจริงในเมืองเมาน์เทนวิว รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยวิ่งไปตามท้องถนนเป็นเวลา 30 นาที เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและระบบนำทางที่ปลอดภัย สามารถหลบหลีกรถยนต์คันอื่นและประชาชนที่เดินอยู่ข้างทาง รวมทั้งสามารถปฏิบัติตามสัญญาณไฟจราจรได้อย่างเคร่งครัด
นับเป็นการประกาศความสำเร็จของการขับขี่โดยไร้คนขับ ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่ สร้างความตื่นเต้นให้กับคนทั้งโลก
แม้จะมีเสียงติงว่า การทดสอบรถอัจฉริยะด้วยความเร็วแค่ 40 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง นั้นทำให้ระบบมีเวลาเหลือเฟือในการหลบหลีกสิ่งกีดขวางที่พบเห็น และในความเป็นจริง การขับขี่ด้วยความเร็วเพียงเท่านี้ยากจะเป็นไปได้
พร้อมคำถามว่า มนุษย์มีความพร้อมที่จะใช้เทคโนโลยีนี้อย่างแพร่หลายแล้วหรือไม่?
ล่าสุดยังไม่ชัดเจนว่า ทาง Google จะผลิตรถยนต์รุ่นนี้ขึ้นเองหรือตกลงให้บริษัทรถยนต์ใดเป็นผู้นำเทคโนโลยีไปผลิต รวมทั้งยังไม่ระบุวันที่แน่ชัดในการเปิดขายรถยนต์ไร้คนขับอย่างเป็นทางการ แต่ตามแผนงานของกูเกิลนั้นอาจจะพร้อมผลิตและจำหน่ายแก่สาธารณชนได้จริงภายในช่วงปี 2017-2020
โดยระยะแรกอาจเปิดให้บริการสาธารณะแบบ Uber และอาจร่วมมือให้ Ford เป็นผู้ผลิตหลังจากที่ Self-Driving Car ได้สิทธิบัตรในการใช้ป้ายไฟฟ้าสำหรับสื่อสารกับผู้ใช้รถใช้ถนนคันอื่นๆ และ Google Auto LLC บริษัทย่อยของ Google ก็เปิดตัวเป็นทางการไปแล้วในช่วงเดือนสิงหาคม 2015 ที่ผ่านมา ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ทั้ง 2 บริษัทจะมีการแชร์เทคโนโลยีที่สมค่ากัน นั่นคือเทคโนโลยีการผลิตรถแบบแมสของฟอร์ดและซอฟต์แวร์ self-driving ของกูเกิล
หลังจากทดสอบวิ่งจริงครั้งแรกแล้ว กูเกิลได้ผลิตรถไร้คนขับนี้ออกมาอีกหลายคันและมีการทดสอบวิ่งเพิ่มเติมอีกหลายครั้งที่แคลิฟอร์เนีย วอชิงตัน และเท็กซัส มีทั้งลองวิ่งทางราบ ทางขรุขระ แต่รถยังถูกกำหนดให้ทำความเร็วไว้ในแบบปลอดภัยที่ไม่เกิน 25 ไมล์ ต่อชั่วโมง เท่านั้นเพราะกูเกิลเน้นที่ความปลอดภัยสูงสุด
อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รถยนต์อัจฉริยะ “กูเกิล คาร์” ประสบอุบัติเหตุชนเข้ากับรถบัสได้รับความเสียหายเล็กน้อย ซึ่งนับเป็นอุบัติเหตุครั้งแรกของกูเกิล คาร์ ตั้งแต่ออกมาวิ่งทดสอบบนท้องถนน
หลังจากเกิดเหตุ บริษัท อัลฟาเบ็ต อิงค์ ผู้พัฒนารถยนต์ให้กูเกิล ออกมาแสดงความรับผิดชอบ ยืนยันว่ารถยนต์เล็กซัส รุ่น RX450h ที่นำมาดัดแปลงเป็นรถอัจฉริยะได้ชนเข้ากับรถบัสเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 ในขณะขับมาด้วยความเร็วไม่เกิน 3.2 ไมล์ ต่อชั่วโมง ขณะที่รถบัสแล่นมาด้วยความเร็ว 15 ไมล์ ต่อชั่วโมง โดยจุดเกิดเหตุอยู่ไม่ไกลจากสำนักงานใหญ่ของกูเกิลนัก
ปัญหาเกิดจากระบบอัตโนมัติของรถยนต์ไร้คนขับ เข้าใจว่ารถบัสได้ชะลอความเร็วเพื่อเปิดทางให้รถกูเกิลขับต่อ แต่หลังจากนั้นเพียงแค่ 3 วินาทีที่รถของกูเกิลได้เบี่ยงเข้าเลนกลางก็ชนเข้ากับด้านข้างของรถบัส จนได้รับความเสียหายในส่วนกันชนหน้าซ้าย ล้อหน้า และเซ็นเซอร์ด้านข้างคนขับ แต่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ
เหตุการณ์นี้ทำให้กูเกิลต้องกลับไปปรับปรุงชุดคำสั่งของระบบขับเคลื่อนด้วยตนเองใหม่ หลังจากนี้ระบบจะต้องระมัดระวังรถบัสและรถขนาดใหญ่มากขึ้น เนื่องจากรถประเภทนี้มีแนวโน้มที่จะไม่ให้ทางมากกว่ารถชนิดอื่น และคาดว่าระบบจะรับมือกับเหตุการณ์ในอนาคตได้ดีขึ้น
ความผิดพลาดในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า กูเกิลยังต้องพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้ก้าวหน้าไปอีกขั้นก่อนจะนำออกมาใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง
จุดสำคัญคือ จีพีเอสกล้อง ต้องให้พิกัดตำแหน่งแผนที่ตรงกับกูเกิลกำหนดอย่างละเอียดและเส้นทางเดินรถต้องเลือกให้ดีที่สุด กล้องวิดีโอหลังกระจกหน้ารถสำหรับอ่านป้ายจราจรและสัญญาณไฟจราจรต้องพัฒนาให้เฉียบคมขึ้นอีก รวมทั้งการกำหนดวิถีการเดินรถอย่างแม่นยำ มิฉะนั้น รถจะคำนวณไม่ได้ว่าจะปฏิบัติอย่างไรในสถานการณ์ฉุกเฉิน
แผนที่วิถีการเดินรถเป็นข้อมูลของโลกดิจิตอลที่ละเอียดมาก แม้แต่ความสูงของขอบถนนก็ยังถูกวัดและเก็บเป็นข้อมูล
อย่างไรก็ตาม อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นสถิติที่ต่ำมาก เพราะกูเกิล คาร์ วิ่งมาแล้วมากกว่า 2,092,000 ตั้งแต่ปี 2009
ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจทำให้โครงการยานยนต์ไร้คนขับของกูเกิลชะงักลงไปบ้าง แต่ไม่มีการล้มเลิกแน่นอน
ดังนั้น อีกไม่กี่ปีข้างหน้า เชื่อว่า กูเกิล คาร์ รถอัจฉริยะไร้คนขับ จะสามารถนำออกมาบริการคนอเมริกันได้ในชีวิตจริงอย่างแน่นอน