ไม่ต้องรอให้ถึงทางตัน! แชร์ 3 เทคนิคเพิ่มโอกาสรอดให้ธุรกิจ ในยุคดิจิตอล

ไม่ต้องรอให้ถึงทางตัน! แชร์ 3 เทคนิคเพิ่มโอกาสรอดให้ธุรกิจ ในยุคดิจิตอล

ปัจจุบัน โลกใกล้จะก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบไปทุกที มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีมากมาย ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ตามขึ้นมาไม่น้อย แน่นอนว่าใหม่มา เก่าก็ต้องไป มีไม่น้อยเลย ที่ธุรกิจในยุคก่อนดิจิตอลนั้นปรับตัวกันไม่ได้ ทำให้เกิดสภาวะการหยุดชะงักของธุรกิจ สวนทางกับเทคโนโลยีดิจิตอล ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด, การไม่พัฒนาในตัวองค์กร สุดท้ายไปจนถึงการปิดตัวลง

เมื่อเร็วๆ นี้ ในงานสัมมนา “Surviving Disruption 4.0 พลิกธุรกิจ SMEs อย่างไร ไม่รอให้ถึงทางตัน” จัดขึ้นโดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มีการพูดถึงเทคนิคการปรับตัว ต่อยอดธุรกิจ จากสภาวะการหยุดชะงักของธุรกิจ จากผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาจริง อย่าง คุณซี – พันธ์ภูวดล จารุโชติรัตนสกุล ทายาทรุ่นที่ 2 บริษัท อินเตอร์เนชัลแนล คอนเนคเทรด จำกัด หรือเหมือนหลายปีก่อนเป็นที่รู้จักกันในชื่อ INK MAN ศูนย์บริการเติมหมึกครบวงจรนั่นเอง

“สิบกว่าปีก่อน เป็นยุคของเครื่องพริ้นต์ ผมพูดเลยว่ามันเป็นยุครุ่งเรืองของ INK MAN เลยครับ เพราะเราเป็นศูนย์บริการเติมหมึกแบบครบวงจร นอกจากนั้นก็มีรับซ่อมเครื่องพริ้นต์ด้วย ยุคนั้นมีสาขาทั่วประเทศกว่า 60 สาขา ทีนี้พอมีความป็นดิจิตอล อย่าง ยูทูป สื่อโซเชียล ดิจิตอลทีวี ก้าวเข้ามา ธุรกิจ INK MAN ก็หยุดชะงักไป” คุณซี เล่า

เมื่อธุรกิจได้รับผลกระทบจากธุรกิจดิจิตอล จากสาขาที่เคยมีกว่า 60 แห่งทั่วประเทศ ในปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 16 สาขาเท่านั้นที่บริหารงานโดยคุณซี โดยเขาเล่าว่า 44 สาขาที่หายไป ถูกขายออกเพื่อลดความเสี่ยง ลดต้นทุนในการบริหารงาน ซึ่งวิธีขายทอด เป็นเพียง 1 วิธีการปรับตัวของธุรกิจเท่านั้น

“เมื่อความเป็นดิจิตอลก้าวเข้ามาแทนที่ แน่นอนว่าธุรกิจ INK MAN ของครอบครัวผมได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะหนึ่ง เราเป็นคนกลางที่ขายของให้ผู้บริโภค และสอง พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยน จากที่เคยสนใจเครื่องพริ้นต์สักเครื่องแล้วมาดูของ สอบถามพนักงาน เดินเปรียบเทียบราคากับหลายๆ ร้านก่อนจะตัดสินใจซื้อ ก็กลายเป็นเขาสามารถหาข้อมูลหรือแม้กระทั่งสั่งซื้อทางอินเตอร์เน็ตจากโรงงานได้โดยตรงเลย มันทำให้ห่วงโซ่ธุรกิจ ที่เคยเป็นแบบ ผู้ประกอบการหรือโรงงานที่เป็นต้นทาง ส่งของมาให้คนกลาง คนกลางไปกระจายต่อให้ร้านเล็กๆ แล้วค่อยไปถึงปลายทางก็คือผู้บริโภค กลายเป็นผู้บริโภคสามารถเข้าไปซื้อสินค้าจากต้นทางได้เลย”

เมื่อเห็นว่าทิศทางธุรกิจถดถอย จึงเป็นเรื่องจำเป็น ที่จะต้องปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด เขาจึงศึกษา ปรับตัว จนได้เป็นเทคนิค 3 ข้อ ได้แก่

  1. ย้ายสนาม : เป็นการย้ายจากการขายแบบ Offline สู่การขายแบบ Online โดยการสร้างเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และไลน์แอดเป็นของตัวเอง เป็นการสร้างตัวตนและหน้าร้านในโลกออนไลน์ ทดแทนร้านส่วนที่หายไป และการเรียนรู้การทำการตลาดในสื่อโซเชียลต่างๆ ทั้งเฟซบุ๊ก กูเกิ้ล หรือ ยูทูป เพื่อให้ผู้บริโภคเสิร์ชสินค้า หรือสิ่งที่เกี่ยวกับสินค้า แล้วเจอคุณเป็นคนแรก รวมถึงการให้ความสำคัญกับสื่อการขายดิจิตอลและกราฟิกต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริโภครับสารจากช่องทางพวกนี้ มากกว่าการนั่งอ่านข้อมูลยาวๆ นั่นเอง

  1. เข้าตลาดใหม่ : คือการเพิ่มไลน์สินค้าใหม่ๆ เข้ามาขาย เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงไปหลายๆ ทาง อีกทั้งยังเป็นการได้ลูกค้าหลากหลายกลุ่ม มาทดแทนลูกค้ากลุ่มเก่าที่หายไป

  1. ทำทันที : ในข้อนี้ คุณซี กล่าวว่า ฟังดูเหมือนง่ายแต่เป็นเรื่องยากที่จะทำกัน เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะกลัวความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าไม่ทำธุรกิจก็ไปไม่รอดเหมือนกัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำและศึกษาข้อมูลให้รอบคอบด้วย