ดีแทค-กระทรวงอุตสาหกรรม ชู ‘เน็ตทำกิน’ หนุน ‘หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์’ ปั้นรายได้ยั่งยืน

ปัจจุบัน ประเทศจะแข็งแกร่งและมั่นคง ไม่ได้เกิดจากเมืองใหญ่เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการเติบโตของเมืองต่างๆ ทั่วภูมิภาค ที่จะช่วยให้ประเทศเดินหน้า โดยเฉพาะปัจจุบันที่องค์ความรู้ด้านดิจิทัลคือสิ่งสำคัญ ช่วยหนุนให้แต่ละท้องที่พัฒนาและพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตไปยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค จึงผนึกกำลัง กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วย ‘ความร่วมมือในการยกระดับขีดความสามารถหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์’ (Creative Industry Village-CIV) เพื่อนำโครงการ ‘ดีแทคเน็ตทำกิน’ ร่วมยกระดับชุมชนทั่วไทยก้าวสู่หมู่บ้านแห่งความยั่งยืน

โครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือ 3 ประการ ได้แก่ การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและพัฒนาผู้ประกอบการในชุมชน, การกระตุ้นการท่องเที่ยวหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากอัตลักษณ์ท้องถิ่น เพื่อพัฒนา 152 หมู่บ้านจาก 76 จังหวัด ให้เกิดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่แข็งแกร่ง พร้อมรับมือโลกที่ขับเคลื่อนด้วยวิถีดิจิทัลอย่างเต็มตัว

‘ดีแทคเน็ตทำกิน’ ส่งเสริมดิจิทัล ยกระดับความสามารถชุมชน

นอกจากการประกอบธุรกิจด้านโทรคมนาคม ดีแทคยังให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือสังคมให้เติบโตร่วมด้วย ผ่านการส่งเสริมและเพิ่มพูนทักษะด้านต่างๆ แก่ผู้คนในสังคมหลายโครงการ นำโดย ‘ดีแทคเน็ตทำกิน’ โครงการที่มีเป้าประสงค์ให้ความรู้ผู้ประกอบการรายย่อยเรื่องการทำธุรกิจยุคดิจิทัล เพื่อให้เท่าทันและก้าวเข้าสู่โลกการตลาดออนไลน์ได้อย่างยั่งยืน 

ประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี ดีแทค กล่าวถึงความมุ่งมั่นทำโครงการเพื่อสังคมที่ผ่านมา ว่า 

“เราคิดมาตลอดว่า ทำอย่างไรถึงจะตอบแทนสังคมได้บ้าง เราสามารถทำอะไรที่มากกว่าทำให้อินเทอร์เน็ตเร็วขึ้นได้ไหม ทำอย่างไรให้องค์ความรู้และความสามารถของเราส่งเสริมชีวิตคนไทยให้ดีขึ้นได้” 

สำหรับความร่วมมือระหว่างดีแทคกับกระทรวงอุตสาหกรรม ประเทศเผยว่า ดีแทคพร้อมนำโครงการ ‘ดีแทคเน็ตทำกิน’ ช่วยเสริมสร้าง ‘หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์’ ส่งเสริมศักยภาพชุมชนด้วยการผลักดันโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ส่งต่อองค์ความรู้ด้านดิจิทัลให้แต่ละชุมชน สามารถยกระดับวิธีการทำงานของผู้คนในท้องถิ่น และนำสิ่งดีๆ ที่มีอยู่แล้ว มาเพิ่มคุณค่าให้เข้าถึงคนจำนวนมากขึ้น ผ่านทุกช่องทางที่ดีแทคมีอยู่

“ปัจจุบันดีแทคมีสัญญาณครอบคลุมพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 93% ครอบคลุมแล้ว 923 อำเภอทั่วประเทศ หากแต่ละชุมชนมีผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ เราจะเพิ่มช่องทางทำตลาดออนไลน์ให้แต่ละชุมชน บนแอปพลิเคชันของดีแทค พร้อมเชื่อมกับ dtac reward เข้าสู่ฐานผู้ใช้งานเครือข่ายกว่า 20 ล้านราย เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถนำเหรียญที่มีในแอปฯ มาแลกรางวัล หรือแลกผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ได้”

รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี ดีแทค ย้ำว่า การทุ่มเททั้งหมดนี้ เกิดขึ้นเพราะดีแทคต้องการสนับสนุนให้แต่ละหมู่บ้านเจริญเติบโต มีวิถีชีวิตที่เปี่ยมคุณค่า เพื่อเป็นรากฐานนำสู่ความยั่งยืนในแต่ละวิถีชุมชนสืบไป

เสริมสร้างความโดดเด่นจากภายใน รากฐานใหม่ของชุมชน

ด้านกระทรวงอุตสาหกรรม เริ่มทำโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อช่วยให้แต่ละชุมชนทั่วประเทศยืนหยัดได้ด้วยตนเองผ่านความคิดสร้างสรรค์ ที่สอดประสานกับอัตลักษณ์เด่นในแต่ละพื้นที่ และเมื่อบริบทโลกที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทต่อโลกมากขึ้น จึงไม่รีรอที่จะบูรณาการการทำงานกับดีแทค เพื่อร่วมขับเคลื่อนสังคมให้ยั่งยืนไปพร้อมกันตามเป้าที่วางไว้

วรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวด้วยความมั่นใจว่า ‘ดีแทคเน็ตทำกิน’ จะช่วยให้กระทรวงอุตสาหกรรมพัฒนาโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านแนวคิดการพัฒนา 3 เสาหลัก ‘CIV’ ประกอบด้วย 

Consensus คือ การเกิดฉันทมติร่วมกันของคนในชุมชน Identity คือ การกำหนดอัตลักษณ์ร่วมกัน และ Value Creation คือ การสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งทั้งสามเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะช่วยให้แต่ละหมู่บ้านเติบโตอย่างแข็งแกร่ง สร้างความยั่งยืนให้ชุมชนผ่านตัวตนในแต่ละพื้นที่

แม้ 2 ปีที่ผ่านมา โควิด-19 จะสร้างผลกระทบร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลก และได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้คนเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ แต่รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเชื่อว่า นี่คือโอกาสทองในการพาสังคมก้าวเข้าสู่สังคมเน็กซ์ นอร์มอล โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยนำร่อง 

“เราไม่ได้พัฒนาเฉพาะตัวสินค้าหรือบริการ แต่เราวางรากฐานของชุมชนให้สามารถสร้างรายได้ตลอดเวลา สามารถปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตและความต้องการที่เปลี่ยนไปของนักท่องเที่ยวและบริบทสังคม เพื่อให้เกิดรากฐานที่ฝังลึกในชุมชนนั้นๆ เป็นแนวทางให้เยาวชนคนรุ่นใหม่สามารถพัฒนาท้องถิ่นตัวเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาอยู่ในตัวเมืองอย่างเดียว” รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

หากทุกอย่างเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ เมล็ดพันธุ์ที่หยอดไว้ใน 152 หมู่บ้านทั่วประเทศ จะผลิดอกออกผล สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 250 ล้านบาท ภายในปีงบประมาณ 2566

ร่วมสร้างอัตลักษณ์ชุมชน ให้กลายเป็นจุดขาย

ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการ ‘หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์’ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สมชาย หาญหิรัญ สมาชิกวุฒิสภา และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หนึ่งในสักขีพยานของการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ ย้อนความว่า 

เดิมทีเป้าหมายของโครงการ คือ การนำศาสตร์พระราชามาพัฒนาขีดความสามารถของผู้คนให้เกิดความยั่งยืน พร้อมเผยว่าความท้าทายของโครงการนี้ อยู่ที่การสร้างฉันทมติและความเข้าใจที่ตรงกันให้ได้ว่า อะไรคือความภาคภูมิใจร่วมกันของคนในชุมชน ตัวตนที่แต่ละพื้นที่ต้องการสื่อคืออะไร 

เหล่านี้ไม่ใช่กระบวนการง่ายในการค้นหาและทำความเข้าใจร่วมกัน ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 3 ปี จึงจะทำให้ทุกคนตกผลึกและมองไปยังทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ผศ. (พิเศษ) ดร.สมชาย มั่นใจว่า หากเกิดฉันทมติร่วมกันเมื่อไหร่ จะปลดล็อกก้าวย่างอื่นๆ ให้ตามมาอย่างรวดเร็ว

“อัตลักษณ์สร้างจากเลือดเนื้อ วิญญาณ ประเพณี หรือสิ่งที่เห็นได้ด้วยสายตาของคนในชุมชนเอง หากขาดความเข้าใจร่วมกัน ชุมชนจะพัฒนาลำบาก แต่ทันทีที่ฉันทมติผ่าน ที่เหลือจะตามมาเอง”

นอกจากนี้ อดีต รมช.อุตสาหกรรม ยังกล่าวเสริมว่า เมื่อสร้างอัตลักษณ์ได้แล้ว  ต้องทำให้คนภายนอกรับรู้ด้วย มิฉะนั้นคุณค่าที่ต้องการสื่อสารจะไม่เกิดขึ้น พร้อมยกตัวอย่างหมู่บ้านซะซอม จังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะปราการด่านแรกของประเทศไทย ซึ่งมาพร้อมจุดขาย ‘แสงแรกแห่งสยาม’ แม้ต้องใช้เวลากว่า 3 ปี กว่าทุกคนจะตระหนักถึงเอกลักษณ์นี้ 

แต่ปัจจุบันเอกลักษณ์ดังกล่าวได้กลายเป็นเสน่ห์และจุดขายให้ชุมชน จนสามารถดึงดูดผู้คนให้อยากกลับไปเยือนทุกครั้งเมื่อมีโอกาส

การร่วมมือกันของดีแทคและกระทรวงอุตสาหกรรม ทำให้เราเห็นถึงความสำคัญของบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลง ในยุคที่ถนนทุกสายหันหน้าเข้าสู่วิถีดิจิทัล ซึ่งรากฐานของชีวิตที่มั่นคง สามารถเกิดขึ้นได้ผ่านสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่าเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ หากสามารถประยุกต์ทั้งสองสิ่งเข้าหากันไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงไหนๆ ก็มั่นใจได้เลยว่าทุกคนพร้อมปรับตัวรับทุกการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน
ผู้สนใจโครงการ ‘ดีแทคเน็ตทำกิน’ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/dtacnetforliving/

#ดีแทคเน็ตทำกิน​ #หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ #ดีแทค #กระทรวงอุตสาหกรรม