ดีเดย์ 1 ส.ค.นี้ ลอยตัวก๊าซแอลพีจีครั้งแรกเป็นประวัติการณ์

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีพลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา ว่า กบง. คงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) เดือนก.ค. 2560 ไว้ที่ 20.49 บาท/กิโลกรัม (ก.ก.) เนื่องจากต้นทุนแอลพีจีตั้งต้นลดลง 1.4262 บาท/ก.ก. จาก 15.0491 บาท/ก.ก. เป็น 13.6229 บาท/ก.ก. ตามทิศทางราคาตลาดโลกลดลงจาก 382.50 เหรียญสหรฐ/ตัน มาอยู่ที่ 355 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งเป็นการตรึงราคาเดือนสุดท้ายก่อนเปิดเสรีธุรกิจแอลพีจีเต็มรูปแบบทั้งระบบในรอบกว่า 30 ปี มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.นี้เป็นต้นไป

โดยให้นำต้นทุนที่ลดลง 1.4262 บาท/ก.ก. ส่งคืนเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ช่วยลดภาระกองทุนที่เดิมชดเชยอยู่ที่ 1.5469 บาท/ก.ก. เป็นชดเชย 1.207 สตางค์/ก.ก. มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. 2560 เป็นต้นไป ส่งผลให้กองทุนมีรายรับสุทธิอยู่ที่ 131.82 ล้านบาท/เดือน โดยฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 2 ก.ค. 2560 อยู่ที่ 39,669 ล้านบาท แบ่งเป็นในส่วนของบัญชีก๊าซแอลพีจี 6,448 ล้านบาท และในส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูป 33,221 ล้านบาท

“ขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังหารือร่วมกับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางดูแลผู้มีรายได้น้อยที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการลอยตัวราคาก๊าซแอลพีจี โดยยืนยันว่ารัฐยังคงมีกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองไว้ดูแลราคาแอลพีจีให้มีเสถียรภาพในช่วงที่ราคาตลาดโลกผันผวน และบรรเทาความเดือดร้อนค่าครองชีพของประชาชน”นายทวารัฐ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีธุรกิจก๊าซแอลพีจีทั้งระบบมีผลให้ยกเลิกการกำหนดราคาโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมันและโรงอะโรเมติก ยกเลิกการกำหนดราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้า ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นแอลพีจี และยกเลิกการประกาศราคาขายส่ง ณ คลังก๊าซ เพื่อให้ตลาดแอลพีจีมีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์

แต่ทั้งนี้ สนพ. ยังคงติดตามและประกาศเฉพาะราคาอ้างอิงตลาดโลกของซาอุดิอาระเบีย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำกับดูแลราคาขายปลีกแอลพีจีในประเทศ หากราคาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ สนพ. ยังคงมีกลไกติดตามสถานการณ์ราคานำเข้าแอลพีจีและต้นทุนโรงแยกก๊าซอย่างใกล้ชิดเป็นรายเดือน

นายทวารัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม กบง. ยังเตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาให้ ปตท. ดำเนินธุรกิจโครงการ LPG Integrated Facility Enhancement (โครงการ LIFE) ในเชิงพาณิชย์ โดยให้ผู้ค้าก๊าซแอลพีจีรายอื่นสามารถเข้าใช้บริการคลังก๊าซ LIFE ที่เขาบ่อยา จ.ชลบุรี ของ ปตท. ได้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม จนกว่าผู้ค้าแอลพีจีรายอื่นจะสามารถสร้างหรือขยายคลังแอลพีจีนำเข้าของตัวเองแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ ให้ ปตท. เปิดเผยข้อกำหนด/กติกาการใช้คลังก๊าซฯ ดังกล่าวให้สาธารณชนรับทราบด้วย และเพื่อส่งเสริมให้มีการจำหน่ายแอลพีจีภายในประเทศเป็นหลัก ดังนั้น ปริมาณแอลพีจีที่ผลิตได้จากโรงแยกก๊าซจะต้องให้ความสำคัญกับการจำหน่ายเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงก่อนเป็นลำดับแรก ไม่ใช่เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และสำหรับการส่งออกแอลพีจีจะต้องขออนุญาตจากกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) โดยจะมีการเก็บเงินส่งเข้ากองทุนในอัตราคงที่ ที่ 20 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ยกเว้นกรณีที่แอลพีจีนำเข้า เพื่อเป็นการส่งออกเท่านั้น

ปัจจุบันสัดส่วนทางการตลาดธุรกิจแอลพีจี ส่วนใหญ่ 40% เป็นของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อีก 30% เป็นของเวิล์ดแก๊สและปิคนิคแก๊ส และอีก 20% เป็นของสยามแก๊ส

นายทวารัฐ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นยังไม่ตอบไม่ได้ว่าการเปิดเสรีธุรกิจแอลพีจีจะส่งผลให้ราคาขายปลีกในประเทศเพิ่มขึ้นหรือไม่ เท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับราคาในตลาดโลก ซึ่ง กบง. ประเมินว่าขณะนี้ราคาแอลพีจีตลาดโลกทรงตัวอยู่ในทิศทางขาลง โดยอาจมีโอกาสปรับขึ้นอีกครั้งช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ แต่จะปรับขึ้นไม่มากเท่ากับอดีต เพราะคาดว่าจะมีผู้เล่นรายอื่นนำเข้าก๊าซเข้ามาเพิ่มขึ้นเช่นกัน หรือต่อให้ราคาปรับขึ้น รัฐก็ยืนยันว่ายังคงใช้กลไกกกองทุนเข้ามาดูแลบรรเทาค่าครองชีพสำหรับผู้มีรายได้น้อยแน่นอน