มัลลิการ์ หลีระพันธ์ “คนบ้า…ทำธุรกิจ” สูตรสำเร็จกิจการพันล้าน

มัลลิการ์ หลีระพันธ์ “คนบ้า…ทำธุรกิจ” สูตรสำเร็จกิจการพันล้าน

เป็นข่าวดังอลังการกันเลยทีเดียว สำหรับการเปิดโรงเรียนไทยอินเตอร์เนชั่นแนลสกูล (Thai International School) โรงเรียนนานาชาติที่มีหนึ่งในผู้ก่อตั้งหลักคือ “มัลลิการ์ หลีระพันธ์ (ธรรมวัฒนะ)” ร่ำลือกันไปถึงว่า เจ้าแม่เย็นตาโฟเป็นคุณย่าบุญทุ่ม เทเงินกว่าพันล้านเปิดโรงเรียนให้หลานสุดที่รัก

“ไม่ใช่ ๆ ไม่ได้สร้างให้หลาน (หัวเราะ) จริง ๆ เราเรียนจบมาทางด้านการศึกษาเด็กเล็ก คือเด็กก่อนอนุบาล โรงเรียนนี้เป็นความฝัน ตั้งแต่ตอนอายุ 20 กว่าแล้วนะ แต่จบมา แล้วไม่มีประสบการณ์ การเปิดมันไม่ใช่เรื่องง่าย มีเงินอย่างเดียวมาทำไม่ได้ ต่อมาก็มีโอกาสได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการเป็นอาจารย์ฝ่ายประถมศึกษาที่สาธิตเกษตรฯอยู่ 26 ปี”

มิใช่เพียงประสบการณ์จากการเป็นแม่พิมพ์ “อ.มัลลิการ์” ยังใช้ประสบการณ์ส่วนตัว และปัญหาด้านการศึกษาที่พบได้บ่อยในเด็กไทยคือ ความอ่อนในด้านภาษาต่างประเทศ

“ตอนเราเรียน เราเหมือนเด็กทั่ว ๆ ไป ส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ไปเรียนกวดวิชา พอเรียนจบปริญญาตรีแล้วก็ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ดี เพราะเราไม่มีความกล้า คือคำตอบเรารู้นะ แต่สื่อสารไม่ได้ คนไทยเก่งแกรมมาร์ แต่ไม่มีทักษะในการพูด ฉะนั้น เราเคยมีความคิดว่าถ้าเราได้ทำโรงเรียน เราจะปูพื้นเด็กตั้งแต่เล็ก เพราะจะได้ผลที่ดี การเปิดโรงเรียนไทยอินเตอร์เนชั่นแนลสกูล จึงเป็นเหมือนการต่อยอดความฝันจากเมื่อ 30 ปีก่อน โดยได้ทีมบริหารที่เก่งมาก

อย่างทีม รศ.ดร.จงรักษ์ ไกรนาม เข้ามาร่วมดูแล เราเริ่มกันเมื่อปีที่แล้วนี่เอง แต่ไม่ได้คิดทำให้แค่หลานนะคะ (หัวเราะ) เราทำแบบฟูลสเกล เริ่มตั้งแต่เนิร์สเซอรี่ไปจนถึง ม.6

ในขณะเดียวกันก็เหมือนเป็นการประกันว่า การทำโรงเรียนของเรา เราทำอย่างดี ถึงกล้าให้หลานเรียน ใกล้ ๆ นี้เราก็กำลังจะมีโอเพ่นเฮาส์ในวันที่ 10 และ 24 มิถุนายน”

น้ำเสียงจริงจังบ่งบอกถึงความมุ่งมั่นทุ่มเทของเจ้าตัว โดย “อ.มัลลิการ์” กล่าวติดตลกว่า ตนเองเหมือนคนบ้ามาจับธุรกิจ เริ่มจากการกระโจนเข้าสู่ธุรกิจอาหารแบบไม่ทันตั้งตัว ด้วยความเป็นคนทำอะไรให้ดีที่สุดเสมอ ตอนเริ่มทำร้านเย็นตาโฟ ราคาก๋วยเตี๋ยวทั่วไปในสมัยนั้นชามละ 15 บาท แต่พอพะยี่ห้อ อ.มัลลิการ์ ราคากระโดดมาไกลถึงชามละ 35 บาท

“เราต้องการสร้างความแตกต่าง เราน่าจะเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวในห้องแอร์ร้านแรก ๆ ของประเทศ คือเมื่อ 19 ปีที่แล้ว ที่บอกว่าคนบ้าทำธุรกิจ เพราะคนทำธุรกิจเขาต้องคิดเยอะใช่ไหม แต่เราไม่ใช่นักธุรกิจ เราไม่รู้ว่ามันจะเป็นยังไง ทำให้เราล้มลุกคลุกคลานมาเยอะ เราเริ่มจับธุรกิจอาหารโดยไม่มีความรู้ทางธุรกิจ และไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านนี้เลย

ทำอาหารก็ไม่เป็น แต่พอเพื่อนมาชวนให้ลงทุน เราก็เห็นแก่เพื่อน ลงทุนไปเมื่อมีปัญหาเกิด เราก็อยู่บนหลังเสือแล้ว ฉะนั้นด้วยความเป็นคนไม่ล้มเลิกอะไรง่าย ๆ อยากเอาชนะให้ได้ ก็ต้องลุยต่อ ทำต่อมาแบบไม่รู้ ตั้งร้านโดยไม่สำรวจทำเล เลือกทำเลผิด ๆ อยู่นาน ผิดแล้วผิดอีก บางคนเจอแบบเราอาจล้มเลิกไปแล้ว แต่เราไม่…

ประกอบกับที่เรามีสายป่านยาวพอประคองให้ธุรกิจอยู่ต่อมาได้ อีกอย่างเรามั่นใจว่าอาหารเราอร่อย ด้วยความที่เป็นคนชอบกิน ทำไม่เป็น แต่เราบอกพ่อครัวได้ว่า อร่อยไม่อร่อย จะต้องใส่อะไรถึงอร่อย แล้วของทุกอย่างต้องดีหมด ลูกชิ้น ผัก เครื่องเคราในชาม ช้อน ตะเกียบ เราต้องพิเศษหมด คนมากินเขาก็ชมว่าอร่อยนะ แต่เราทำแล้วไม่มีกำไร จนกระทั่งได้ทำเลที่เมเจอร์ รัชโยธิน ทุกอย่างลงตัวสำหรับเรา คนรอเข้าคิวกินเย็นตาโฟเครื่องทรงอยู่เป็นปี ๆ”

ทุกวันนี้แม้บริษัท มัลลิการ์ อินเตอร์ฟู๊ด จำกัด จะมีร้านอาหารในเครืออยู่ถึง 6 แบรนด์ ได้แก่ ร้าน อ.มัลลิการ์, เย็นตาโฟเครื่องทรง โดย อ.มัลลิการ์, เรือนมัลลิการ์, ปังยิ้ม โดย อ.มัลลิการ์, ปาป้าปอนด์ และ คุ้มกะตังค์ โดย อ.มัลลิการ์ เจ้าแม่เย็นตาโฟพันล้านก็ยังดูแลร้านอาหารทั้งหมดเอง

“เราก็จัดสรรเวลาให้ดี ใครที่มาบ่นว่าไม่มีเวลา ไม่ใช่นะ เราทุกคนมีเวลาเท่ากันหมด ต้องแบ่งให้เป็น ช่วงก่อนที่ยังทำงานเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนสาธิตฯ เราก็ไปทำหน้าที่ครูตั้งแต่ 7 โมงเช้า เลิกงาน 6 โมงเย็นก็มาดูแลร้านอาหาร ทำแบบนี้อยู่ 10 กว่าปี

มนุษย์เราไม่ได้มีชีวิตยืนยาวนะ วันเสาร์เราก็ยังทำงาน ส่วนวันอาทิตย์เราทำตัวสบาย เป็นวันรีแลกซ์ แต่ถึงอย่างนั้นต้องให้เวลากับตัวเองทุกวัน ด้วยการออกกำลังกาย อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ถึงหนึ่งชั่วโมง แล้วแบ่งเวลาให้ชัดเจนทุกอย่างก็จะเสร็จพร้อม ๆ กัน และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”

ไม่ใช่แค่ในบทบาทผู้บริหาร บางครั้งก็กลายเป็นนางก้นครัว

“ทุกวันนี้สบายขึ้นนะ เมื่อก่อนร้านเปิดสาขาใหม่ เราต้องไปขัดสีฉวีวรรณร้านเอง แต่ตอนนี้ไปแค่วันเปิดร้าน ไปชิมให้ได้มาตรฐาน แล้วก็ไปล้างจาน (หัวเราะ) ตอนเปิดสาขาที่เทอร์มินอล 21 โคราช เราไปล้างจานอยู่เป็นอาทิตย์ จริง ๆ คือคนชอบมองว่าล้างจานเป็นแผนกต่ำต้อย แต่เราว่าเขาเป็นคนสำคัญในร้าน ทุกตำแหน่งเท่ากันหมด เพียงแต่แต่ละคนมีหน้าที่อะไร เท่านั้นเอง เวลาร้านยุ่ง ๆ เราไม่เคยไปดูว่าขายได้เท่าไหร่ แต่จะไปล้างจาน เพราะกลัวคนล้างจานลาออกถ้าจานไม่หมดเราจะไม่ไปจากอ่างล้างจานเด็ดขาด เพื่อซื้อใจคนล้างจานและพนักงานทุกตำแหน่ง”

ไม่ใช่แค่นั้น รายละเอียดอื่น ๆ ที่สามารถลดต้นทุนให้กับบริษัทได้ อย่างการนำพืชผักปลอดสารในสวนของตนเองมาใช้ หรือแม้แต่การทำน้ำหมักชีวภาพ น้ำยาทำความสะอาด อ.มัลลิการ์ ก็พยายามคิดค้น หาวิธีผลิตและทดสอบด้วยตนเอง ซึ่งผลสำเร็จคือ สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ระดับหลายล้านบาทต่อปี

ทั้งหมดที่ลงมือทำ เธอบอกว่า มาจากประสบการณ์ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในวัยเรียน การฝึกสอนที่ต้องไปไกลถึง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ช่วงชีวิตที่ไปอาศัยอยู่ต่างประเทศ

“สิ่งที่เราสอนลูกน้องและสตริกต์มากคือ วินัยในการทำงาน ทำเหมือนนักเรียนเลย ต้องตรงต่อเวลา ทำงานตามหน้าที่ เหมือนกับเอาระบบของความเป็นครูมาใช้อยู่ในร้าน จะให้เคร่ง เขี้ยวแบบนักธุรกิจ เราทำไม่ได้ สงสารลูกน้อง พอใช้รูปแบบอย่างครู ทุกคนรับได้ และอยู่กันอย่างเป็นครอบครัวมากกว่าเป็นบริษัทที่มุ่งเน้นในการทำยอด ทำธุรกิจ”

ได้รู้แบบนี้แล้ว เห็นได้ชัดเลยว่า ความเป็นครู เป็นแม่แบบ แทรกซึมอยู่ในทุกอณูของ “อ.มัลลิการ์” จริง

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์