เปิดไอเดีย การสร้างและค้นหาธุรกิจ ที่เหมาะสมกับตัวเรา เริ่มยังไง?

เปิดไอเดีย การสร้างและค้นหาธุรกิจ ที่เหมาะสมกับตัวเรา เริ่มยังไง?

อยากทำธุรกิจ อยากเป็นนายตัวเอง อยากทำอาชีพอิสระ แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง เว็บไซต์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้แจกไฟล์ คู่มือเริ่มต้นธุรกิจอย่างมีทิศทาง ซึ่งมีการแนะนำ การสร้างและค้นหาไอเดียธุรกิจที่เหมาะสมกับตัวเอง ดังนี้

1. ชีวิตประจำวัน : เชื่อว่าทุกคนต้องมีความรู้สึกถึงสิ่งรอบตัวในแต่ละวัน แต่ละสถานที่ ที่ไม่สามารถ ตอบสนองความต้องการหรือไม่สามารถแก้ปัญหา หรืออำนวยความสะดวกได้เท่าที่คิด เช่น เดินเข้าซอยบ้าน อยากซื้อน้ำเต้าหู้ ทำไมไม่มีขาย ซอยนี้มีคนอยู่มาก และปัจจุบันคนดูแลสุขภาพน่าจะขายได้ นำไปสู่ความคิด ในการเริ่มต้นที่จะตอบสนองความต้องการของตนเองและอีกหลายคน ซึ่งต้องมากพอสำหรับการสร้างเป็นธุรกิจ เช่น พัฒนาการบริการ รับซ่อมรถ/ล้างรถถึงบ้าน การบริการส่งผักสดผลไม้ตามเมนูสุขภาพเป็นประจำที่บ้าน

2. สิ่งที่เรารัก ถนัด เก่ง จุดเด่น งานอดิเรก : เลือกประเภทธุรกิจที่เหมาะสมกับตนเองโดยดูจากความชอบ ความถนัด ความสนใจของตนเองเป็นหลัก รวมถึงบุคลิกลักษณะนิสัยของตนเอง โดยลองเรียบเรียงจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ดูว่าความสามารถ ความถนัด และความชอบที่แท้จริงของเราคืออะไร เช่น แม่บ้านชอบเย็บปักถักร้อย เปิดร้านขายอุปกรณ์ และสอนเย็บปักถักร้อย อาจเริ่มต้นธุรกิจจากงานที่ตนเองทำอยู่ หรือการต่อยอดธุรกิจของทางบ้าน เพราะการทำในสิ่งที่เรารักและถนัด จะทำให้มีความสุขและมีความสนใจอยากแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอยู่เสมอ

3. ดัดแปลงจากธุรกิจที่เคยพบเห็น ของเดิมนำมาปรับใหม่หรือ เป็นนวัตกรรมใหม่ : เราสามารถนำนวัตกรรมมาสร้างโอกาสและช่องทางใหม่ๆ ที่ต่างออกไป นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งใหม่ ของดั้งเดิมตั้งแต่บรรพบุรุษก็สามารถกลายเป็นนวัตกรรมได้ ด้วยการต่อยอดจากความคิดสร้างสรรค์ ทำให้สนองความต้องการเพิ่มขึ้นหรือสร้างความต้องการใหม่ เช่น การนำผ้าขาวม้ามาทำเป็นผลิตภัณฑ์กระเป๋าต่างๆ ทำปกสมุด กระเป๋าใส่ไอแพด

4. ซื้อธุรกิจเดิมที่มีอยู่แล้ว หรือมองหาธุรกิจแฟรนไชส์ : ลดความเสี่ยง การเริ่มต้นโดยลำพัง

4.1 ซื้อธุรกิจเดิม ต้องประเมินเหตุผลที่คนเดิมไม่ทำ ต้องยอมรับภาระหรือสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น โดยต้องมีวิธีและความพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างมั่นใจ เช่น ลูกจ้างได้รับกิจการจากนายจ้างหรือผู้สูงวัยไม่มีทายาทสืบทอดกิจการ

4.2 ธุรกิจแฟรนไชส์มีบริษัทผู้ขายแฟรนไชส์วางระบบการบริหารจัดการ จัดหาสินค้า/บริการซึ่งเป็นที่ยอมรับของตลาดแล้ว นับเป็นการลงทุนธุรกิจทางลัด ทำให้เราไม่ต้องกังวลในเรื่องจะบริหารจัดการธุรกิจอย่างไร จะโฆษณา ประชาสัมพันธ์สินค้า/บริการอย่างไร แต่ก็ยังมีความเสี่ยง หากผู้ขายแฟรนไชส์ไม่มีระบบการบริหารจัดการที่อาจเกิดปัญหาที่ส่งผลต่อผู้ซื้อแฟรนไชส์ได้ ดังนั้น ก่อนซื้อแฟรนไชส์ มีหลักการที่ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ ดังนี้

  • สำรวจและสอบถามจากผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์นั้นอยู่ก่อน เพื่อให้ได้ข้อมูล ที่เป็นประโยชน์ เช่น การลงทุนธุรกิจนี้ คุณภาพสินค้าที่ขายเป็นอย่างไร ลูกค้านิยมหรือไม่ บริษัทแม่จัดส่งสินค้าให้ทันหรือไม่ และเพียงพอหรือไม่ อะไรคือปัญหาของธุรกิจนี้ ร้านของคุณทำกำไรได้หรือไม่
  • สำรวจตนเองมีความพร้อมในการบริหารงานหรือไม่ การทำธุรกิจแฟรนไชส์ ไม่ใช่เพียงแต่มีเงินลงทุนแล้วให้บริษัทแม่บริหาร แต่การทำธุรกิจแฟรนไชส์เป็นการลงทุนในธุรกิจที่มีการวางระบบไว้แล้ว ซึ่งผู้ลงทุนต้องลงมือทำเองหรือบริหารเอง ตามระบบงานที่มีบริษัทแม่เป็นผู้สนับสนุน
  • สำรวจบริษัทผู้ขายแฟรนไชส์มีตัวตนอย่างไร ชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ ความชำนาญในธุรกิจ เป้าหมาย และกิจกรรมที่บริษัทแม่ดำเนินการ สามารถตรวจสถานะของบริษัทได้จากเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th และ ตรวจสอบว่า ได้รับเครื่องหมายรับรองเกณฑ์คุณภาพมาตรฐานแฟรนไชส์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือไม่ ซึ่งเครื่องหมายดังกล่าว กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะมอบให้แก่ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านการประเมินเกณฑ์คุณภาพมาตรฐานแฟรนไชส์จากผู้ทรงคุณวุฒิ
  • ประเมินยอดขายและระยะเวลาคืนทุนของสินค้า/บริการ โดยวิเคราะห์ว่า มีตลาดตรงกับความต้องการ ลูกค้านิยมมากพอ และสามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีคู่แข่งมากเกินไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับทำเล และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในชุมชนนั้น

5. การทำธุรกิจออนไลน์ : ขายสินค้าทาง e-Commerce การทำธุรกิจผ่านทางออนไลน์ เป็นการเริ่มต้นธุรกิจที่ตัดค่าใช้จ่ายการเปิดหน้าร้าน/การบริหารจัดการ สามารถขยายตลาดในวงกว้าง และเริ่มต้นได้ทันทีเหมาะสมกับยุคสมัย เป็นที่นิยมของลูกค้า อีกทั้งยังให้บริการได้ 7 วัน 24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม ต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน การวางระบบการจัดหาสินค้าที่เหมาะสม การจัดส่ง และการชำระเงินที่น่าเชื่อถือ ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จะต้องจดทะเบียนพาณิชย์ที่สำนักงานเขตในกรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตามที่ตั้งของสถานประกอบการหรือตามที่อยู่ของผู้ประกอบธุรกิจ

หลังจากนั้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะทำการประเมินคุณสมบัติของเว็บไซต์ที่มีการจดทะเบียนพาณิชย์เพื่อให้เครื่องหมายรับรอง DBD Registered โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถนำเครื่องหมายดังกล่าวไปติดบนเว็บไซต์ของตน อันเป็นการยืนยันการมีตัวตนอยู่จริงของผู้ประกอบธุรกิจ สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคในการ ซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดการจัดอบรมการเปิดร้านค้าออนไลน์ ได้ที่ กองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และดาวน์โหลดคู่มือลัดเปิดร้านค้าออนไลน์ได้ด้วยตัวคุณ ได้ที่ www.dbd.go.th กรมพัฒนาธุรกิจการค้า : The Department of Business Development

สิ่งจำเป็นอีกประการ คือ การศึกษาข้อมูล ติดตามปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดแนวโน้มของธุรกิจที่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ดังนี้

  • การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจโลกสู่ยุคการค้าเสรีตลาดเดียว
  • ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การสร้างสรรค์นวัตกรรม ความทันสมัยของการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์
  • ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสู่สังคมผู้สูงอายุ
  • ความจำเป็นในการรักษาสิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อสังคม
  • ความต้องการความสะดวกสบายกับการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น
  • ความต้องการด้านสุขภาพ ความงาม และความปลอดภัยเพิ่มขึ้น

เมื่อเราเริ่มค้นพบโอกาสทางธุรกิจที่มีความเป็นไปได้แล้ว การเริ่มต้นธุรกิจเป็นของตนเองนั้น เราต้องมีทั้งความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ตนเองจะทำ และมีศิลปะในการบริหารงาน บริหารคนอย่างเหมาะสม วางเป้าหมายให้ชัดเจน และตัดสินใจเลือกวิธีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล