สุขนิยม COFFEE SHOP รังสรรค์ ‘รส’ สะกดทุกคอกาแฟ ‘ขมนำ หวานตาม’ รสชาติกาแฟที่หลายคนชื่นชอบ

สุขนิยม COFFEE SHOP รังสรรค์ ‘รส’ สะกดทุกคอกาแฟ ‘ขมนำ หวานตาม’ รสชาติกาแฟที่หลายคนชื่นชอบ

เสียงพูดคุยเจื้อยแจ้วของคนหลายกลุ่ม เปี่ยมไปด้วยความสุขระหว่างสนทนา เคล้าคละด้วยกลิ่นหอมของกาแฟ ลิ้มรสชาติชวนฝัน รวมกันเป็นบรรยากาศแสนเรียบง่าย กะทัดรัด น่าค้นหาความสุขแห่งการพักผ่อน สไตล์ ‘สุขนิยม COFFEE SHOP’

ร้านกาแฟเล็กๆ ที่เปิดให้บริการอยู่ที่ ชั้น 1 ตึกแสงทองธานี ถนนสาทรเหนือ พนักงานออฟฟิศ-คนทำงานแถวนั้นต่างรู้จักกันดี เนื่องด้วยรสชาติของกาแฟที่หอมหวลชวนลิ้มลองลอยไกลไปถึงหูของใครหลายคนนั่นเอง

คุณสุทธิชัย ชีตา เจ้าของร้าน

 

ซึ่งร้านที่ผู้คนมักนิยามสั้นๆ ว่า ‘สุขนิยม’ มีที่มาจาก คุณสุทธิชัย ชีตา เจ้าของร้าน อดีตโปรแกรมเมอร์นักวิเคราะห์ระบบ มนุษย์เงินเดือนที่อยากผันตัวมาทำธุรกิจ บวกกับการชื่นชอบกาแฟเป็นการส่วนตัว จึงชวนแฟนมาร่วมกันเปิดร้าน ‘สุขนิยม COFFEE SHOP’ จากวันนั้นจนถึงทุกวันนี้ก็ประมาณ 5 ปีแล้ว

“ตอนทำครั้งแรกคิดแค่ว่าอยากมีร้านสวยๆ คนมานั่งชิลๆ แล้วเราก็ขายชิลๆ แต่พอมาทำจริงๆ แล้ว มีอะไรที่มากกว่าการเดินเข้ามาสั่งของลูกค้า เพราะเราต้องเซอร์วิสต่างๆ รวมถึงการทำให้ลูกค้าได้ดื่มรสชาติที่ถูกปาก เพื่อที่จะกลายเป็นลูกค้าประจำของทางร้าน”

เปิด ‘ร้านกาแฟ’ อย่างไร ให้อยู่มานานถึง 5 ปี?

เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าธุรกิจร้านกาแฟมีคู่แข่งค่อนข้างเยอะมาก จึงเกิดคำถามที่ว่าจะทำอย่างไรให้แบรนด์เล็กอยู่รอด นำไปสู่คำตอบก็คือ ‘การขายกาแฟหน้าร้านแบบ Testing’

“สุขนิยมเป็นร้านแบบ Testing เพราะลูกค้าชื่นชอบในรสชาติกาแฟของเรา จึงสนใจเลือกที่จะมาร้านนี้ ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะเป็นร้านเล็กไม่มีทุนสร้างแบรนดิ้งเหมือนร้านใหญ่ ดังนั้น เราจึงใช้รสชาตินำทำให้ลูกค้าสนใจร้านกาแฟของเรา เอาสิ่งที่ลูกค้าชอบซึ่งก็คือรสชาติมาเป็นจุดขาย”

นอกจากในเรื่องของ ‘รสชาติ’ อันเป็นที่ถูกใจใครหลายคนแล้ว ‘สุขนิยม’ ยังมีสิ่งดึงดูดลูกค้าอีก 3 อย่างก็คือ

  1. ความหอม วัตถุดิบต้องสดใหม่
  2. รายละเอียดเล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีใครนึกถึง เช่น ความสะอาดของเครื่องบด ซึ่งบางร้านอาจแค่เก็บเมล็ดกาแฟ ปัดทำความสะอาดเล็กน้อย แต่สุขนิยมนอกจากจะปัดให้เรียบร้อยแล้ว ยังเอาเครื่องดูดฝุ่นมาดูดในเครื่องบด รวมถึงทุกสัปดาห์ต้องถอดอุปกรณ์ข้างในออกมาทำความสะอาด ซึ่งสิ่งที่ได้กลับมาก็คือ คนดื่มจะได้กลิ่นความหอมของกาแฟหลังจากนำไปบด เพราะเครื่องมีผลกับกาแฟทำให้กลิ่นเพี้ยนได้ เป็นต้น
  3. การจดจำลูกค้า พยายามจำให้ได้ว่าลูกค้าที่มาประจำว่าสั่งอะไร ชอบแบบไหน ลูกค้าที่มาประจำเปิดประตูเข้ามาในร้านจึงแทบไม่ต้องสั่งเพียงมองตาก็รู้ใจ ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้สามารถซื้อใจลูกค้าได้ เพราะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าคือคนสำคัญ มีความเอาใจใส่ ทั่วถึง ความสนิทสนม รวมถึงปฏิสัมพันธ์ ซึ่งตรงนี้เป็นจุดหลักที่ทำให้ร้านสุขนิยมยังอยู่ได้ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงมากก็ตาม

การคัดเลือก ‘เมล็ดกาแฟ’ พิจารณาจากอะไร?

“มีหลากหลายแหล่งจากต่างประเทศ ส่วนในไทยมาจากทางภาคเหนือ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน เป็นหลัก ซึ่งในอดีตการเลือกกาแฟจะดูจากไร่นี้เป็นของใคร ปลูกอย่างไร มีกรรมวิธีอะไรบ้าง ดูแลอย่างไร ซึ่งแต่ก่อนจะดูแค่กาแฟมาจากที่ไหน เช่น ดอยช้าง ขึ้นเขาไปดูถ้าเจอที่นั่นก็คือกาแฟดอยช้างแล้วเป็นต้น แต่ปัจจุบันต้องดูว่ากว่าจะมาเป็นเมล็ดกาแฟให้เราได้ดื่มกันต้องผ่านอะไรมาบ้าง พื้นที่อย่างเดียวไม่พอ ต้องไปดูวิธีปลูก ไปดูขั้นตอนต่างๆ เช่น การเก็บ การล้างน้ำ ซึ่งเราต้องมาดูว่าเขาทำดีแค่ไหน เช่น ใช้น้ำสะอาดมั้ย เก็บเฉพาะเมล็ดสุกจริงหรือเปล่า เป็นต้น ก่อนนำมาประกอบการตัดสินใจ”

สำหรับกลิ่นกาแฟซึ่งกลิ่นพิเศษส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในขั้นตอนของเกษตรกร ตั้งแต่นำผลเชอร์รี่ไปหมักในถัง แล้วนำเสนอมาทางร้าน เพราะเกษตรกรรู้ว่าถ้าจะเพิ่มมูลค่าควรทำอย่างไร ต่างจากเกษตรกรในอดีตที่มีหน้าที่ปลูกแล้วขายเพียงอย่างเดียว โดยปัจจุบันมีทั้งครีเอทิวิตี้ โพรเซส และโปรดักชั่นต่างๆ

คนคั่ว (Roaster) สำคัญอย่างไร?

เมื่อได้กาแฟจากเกษตรกรมาแล้วจึงนำมาคั่ว หลังจากนั้นจึงใส่สารปรุง ซึ่งตรงนี้ก็แล้วแต่บาริสต้าแล้วว่าต้องการโปรไฟล์คนคั่วแบบไหน เช่น อยากได้กาแฟกลิ่นหอม มีรสเปรี้ยวเล็กน้อย โรสเตอร์จะรู้ว่าต้องคั่วอ่อนๆ หรือโทนถั่ว

‘ช็อกโกแลต’ ก็คือกลางๆ แต่ถ้าอยากได้ดาร์กช็อกโกแลต ขมเข้ม ก็มีเดียมดาร์ก หรือดาร์กไปเลย ซึ่งทางร้านต้องหาโรสเตอร์เอง เหตุผลก็เพราะต้องการโปรไฟล์คนคั่ว อย่างเช่น ชอบโรงคั่วที่ภาคใต้ ก็ต้องส่งเมล็ดไปคั่วที่นั่น แต่หลังจากทำธุรกิจเกี่ยวกับกาแฟไปสักพักก็จะมีโรงคั่วมานำเสนอเองด้วย ว่าลองได้แบบไหนลองไปโรงคั่วนั่นนี่ดูมั้ย เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปคุณภาพดูได้จาก 2 อย่างก็คือ

  1. คุณภาพของสารที่ได้มาแต่แรก
  2. คุณภาพเครื่องคั่ว

ความสนุกของการทำร้านกาแฟ?

“สำหรับผมคือการสังเกตว่า ลูกค้าได้เครื่องดื่มแล้วมีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง ซึ่งอันนี้เป็นทริกของทางร้านเลย เช่น พอลูกค้าดื่มนับ 1 ถึง 10 ลูกค้ายังดื่มอีกไหม ถ้าไม่ดื่มต่อก็จะนำไปสู่การตั้งคำถามว่าเป็นเพราะอะไร? ไม่ชอบรสชาติกาแฟร้านเรา? รสชาติผิดปกติหรือเปล่า? เป็นต้น แต่ถ้าดื่มปั๊บแล้วดื่มต่อ แปลว่า รสชาติโอเค ลูกค้าดื่มได้หรือชื่นชอบ”

มองโอกาสทางธุรกิจในอนาคตอย่างไร?

“เป้าหมายที่วางในอนาคต ก็คือการนำเสนอขายในรูปแบบ ‘เมล็ดกาแฟ’ ของทางร้าน เนื่องจากมีลูกค้าที่มาดื่มที่ร้านแล้วสนใจอยากชงเอง หรืออยากทำร้านเอง ซึ่งตอนนี้ลูกค้าของทางร้านมี 2 ส่วนคือ ที่ดื่มหน้าร้านกับซื้อเมล็ดกาแฟทั้งนำไปทานเองและเอาไปขายด้วย โดยถ้ามองให้เห็นภาพแล้วจะพบว่าการเป็น ‘โรสเตอร์’ จะดีกว่าขายดื่มหน้าร้าน เพราะว่าเป็นระดับที่ใหญ่กว่า”

คนสนใจอยากทำร้านกาแฟมีคำแนะนำอย่างไร?

คำถามแรกที่ควรถามตัวเองก่อนเลยคือ ชอบทำร้านกาแฟจริงหรือเปล่า? เพราะสมัยนี้แค่บอกว่าชอบ หรือแค่อยากจะมีธุรกิจของตัวเองคงไม่ได้แล้ว เพราะว่าปัจจุบันร้านกาแฟมีการแข่งขันสูงมาก เปิดสัก 10 ร้าน ก็อาจจะหายไปสัก 5-6 ร้าน

หลายคนที่มาสอบถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ จะให้มาลองที่ร้านดูก่อนสัก 2-3 สัปดาห์ เพื่อให้รู้ใจตัวเองว่าชอบจริงหรือเปล่า เพราะว่าภาพที่เดินเข้ามาในร้านคือความสวยที่สำเร็จแล้ว แต่เบื้องหลังเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลยที่คนอยากทำร้านกาแฟต้องเรียนรู้ประสบการณ์จริง

เช่น ตื่นเช้าไหวมั้ย? เพราะลูกค้าคนไทยดื่มกาแฟเช้า เที่ยง ไม่เหมือนต่างชาติที่ดื่ม 9 โมง 10 โมง หรือตลอดทั้งวัน กลับดึกไหวมั้ย? แล้วไม่ได้ทำแค่วันหรือสองวัน แต่ต้องทำทุกวัน เพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้

“มีรุ่นพี่อยากเปิดร้านกาแฟที่จังหวัดสระบุรี จึงมาปรึกษาว่าต้องทำอย่างไรบ้าง จึงให้มาทดลองทำร้านประมาณ 1 สัปดาห์ พี่เขาก็ได้คำตอบสำหรับตัวเองแล้วว่าซื้อดื่มน่าจะดีกว่า ไม่ใช่ทาง เพราะการทำร้านกาแฟไม่ใช่แค่ชง แต่ต้องบริหาร-จัดการด้านอื่นอีกหลายอย่าง”

สำหรับนักดื่มท่านใดซึ่งหลงใหลในรสของกาแฟเป็นทุนเดิมอยู่แล้วล่ะก็ ควรหาโอกาสมาลองดื่มด่ำรสชาติ กลิ่นไอหอมกรุ่น และบรรยากาศเรียบง่ายแสนเป็นกันเอง ณ ร้าน ‘สุขนิยม COFFEE SHOP’ ดูสักครั้ง…

Bangkok Bank SME เราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ คลิก หรือสายด่วน 1333