ทิ้งเงินเดือนหลายแสน หันทำสวนโกโก้ หนุนชาวบ้านปลูก พร้อมรับซื้อราคาดี สร้างรายได้ชุมชน

ทิ้งเงินเดือนหลายแสน หันทำสวนโกโก้
ทิ้งเงินเดือนหลายแสน หันทำสวนโกโก้

ทิ้งเงินเดือนหลายแสน หันทำสวนโกโก้ หนุนชาวบ้านปลูก พร้อมรับซื้อราคาดี สร้างรายได้ชุมชน

เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ขอพาทุกคนมารู้จักกับเจ้าของอาณาจักรโกโก้ชื่อดังทางภาคเหนือ ที่นอกจากจะปลูกโกโก้แล้ว ยังต่อยอดทำบ้านพักและคาเฟ่ แถมใจกว้าง สนับสนุนให้ชาวบ้านในพื้นที่หันมาปลูกโกโก้ เพื่อส่งขายให้ตนในราคาสูงเท่าที่เขาสามารถให้ได้ มนูญ ทนะวัง คือ ชื่อของชายคนนั้น

คุณมนูญ คือชายหนุ่มผู้ประสบความสำเร็จด้านการงานตั้งแต่อายุเพียง 30 ต้นๆ แต่เขากลับรู้สึกไม่สงบและไม่ถูกเติมเต็มเสียที จึงตัดสินใจลาออกจากบริษัทข้ามชาติ ที่ตอนนั้นได้เงินเดือนหลายแสน กลับบ้านเกิดไปทำเกษตรกรรม ที่อำเภอปัว จังหวัดน่าน

โดยคุณพ่อคุณแม่ของคุณมนูญ ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรอยู่แล้ว ซึ่งเป็นการทำเกษตรกรรมแบบเดิมๆ คือทำเพื่อขายอย่างเดียว คุณมนูญจึงคิดว่า ควรมีการพัฒนาต่อยอด โดยใช้ต้นทุนความรู้ทางการเกษตรและที่ดินของครอบครัวที่มีอยู่แล้วในการทำการเกษตรต่อไป เขาตั้งเป้าคิดไกลให้ไปถึงการแปรรูปและต่อยอดเป็นผลผลิตอื่นๆ จึงรวบรวมรายชื่อพืชที่น่าสนใจ มีความเป็นไปได้ในการนำมาพัฒนา และต้องเป็นสิ่งที่ตัวเองชอบด้วย คำตอบจึงมาออกเป็น โกโก้ ซึ่งเป็นส่วนผสมในการทำขนมที่คุณมนูญชื่นชอบ อย่าง ช็อกโกแลต

คุณมนูญ ทนะวัง

เมื่อพบว่าโกโก้สามารถปลูกที่ท้องถิ่นได้ รวมถึงแปรรูปได้หลากหลาย คุณมนูญจึงตัดสินใจเริ่มต้นปลูกต้นโกโก้ด้วยตัวเองครั้งแรก 1,000 ต้น บนพื้นที่ 10 ไร่ โดยมีระยะเวลา 3 ปีถึงจะออกดอกผล ระหว่างนั้นเขาได้ศึกษาเรื่องการแปรรูปโกโก้ไป พร้อมกับการทำบ้านพักและคาเฟ่ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในวันที่สวนโกโก้พร้อมเปิดให้เยี่ยมชม

เมื่อครบ 3 ปีที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ คุณมนูญจึงได้นำผลผลิตที่ได้จากสวนโกโก้ที่เขาภาคภูมิใจ ไปทำเครื่องดื่มและขนมในเมนูเฉพาะของตัวเอง วางขายในคาเฟ่ ซึ่งก็ได้ผลตอบรับที่ดี เพราะโกโก้ของเขาเป็นที่ถูกอกถูกใจของลูกค้า ส่วนสวนโกโก้ก็กลายเป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชม ทำให้ Cocoa Valley เริ่มสร้างรายได้จุนเจือครอบครัวของเขาได้อย่างน่าพอใจ

เมื่อพบว่าความสุขและรายได้ที่ยั่งยืนเกิดขึ้นได้ในสวนโกโก้ คุณมนูญจึงอยากแบ่งปันไปสู่คนในชุมชน เขาจึงส่งเสริมให้เกษตรกรในชุมชนหันมาปลูกโกโก้เพิ่มเติม และรับซื้อในราคาสูงที่สุดเท่าที่จะสามารถรับซื้อได้ ซึ่งราคารับซื้อตอนนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 20 บาท ในขณะที่ราคาตลาดรับซื้อทั่วไปอยู่ที่ 5-10 บาทเท่านั้น ทำให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับชาวบ้าน คิดเป็นเดือนละ 3-4 พันบาทต่อคน เลยทีเดียว

นอกจากนั้น การต่อยอดแปรรูปและคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์จากโกโก้ เช่น การนำเปลือกโกโก้ที่เหลือจากการแปรรูปไปย้อมผ้าด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิม และการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนผสมของโกโก้ ก็สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกกว่า 100 ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน ปัจจุบันมีเกษตรกรในชุมชนเข้าร่วมกลุ่มเพื่อปลูกต้นโกโก้ประมาณ 50 ครอบครัว รวมมีจำนวนต้นโกโก้กว่า 6,000 ต้น ผลที่เกิดจากทำสวนโกโก้ไม่ใช่เพียงทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นในชุมชนเท่านั้น แต่บรรดาต้นโกโก้ยังช่วยรักษาป่าต้นน้ำได้อีกด้วย

Cocoa Valley ประกอบด้วยธุรกิจ 4 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ 1. Cocoa Farm สวนโกโก้อินทรีย์ที่ได้มาตรฐานอินทรีย์วิถีไทย (Earthsafe Standard) เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมสวนและลองชิมผลโกโก้สด พร้อมทำความรู้จักต้นโกโก้ด้วยตัวเองได้ตลอดทั้งปี  2. Workshop Chocolate คือกิจกรรมเรียนรู้การแปรรูปโกโก้เบื้องต้นฝึกการฝัดโกโก้แยกเปลือกและเนื้อโกโก้กับชาวบ้าน การทำช็อกโกแลตที่ออกแบบได้ด้วยตัวเองเป็นช็อกโกแลตชิ้นเดียวในโลก พร้อมนำกลับบ้านได้ กิจกรรมการย้อมผ้าจากเปลือกโกโก้ ซึ่งที่นี่สามารถคิดค้นได้เป็นแห่งแรก นักท่องเที่ยวจะได้ผ้ามัดย้อมสีโกโก้ผืนเดียวในโลกจากฝีมือตัวเองเช่นกัน พร้อมทั้งยังได้เยี่ยมชมวิธีการทอผ้าแบบไทลื้ออีกด้วย

3. Chocolate Cafe ให้บริการอาหารและเครื่องดื่มทุกเมนูที่ทำมาจากโกโก้ มีการแปรรูปเป็นช็อกโกแลตแท้ เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบหลักในการทำเครื่องดื่มและเบเกอรี่ ที่เป็นสูตรที่คิดค้นขึ้นมาเฉพาะของทางร้าน 4. Resort ที่พักสไตล์บูทีก ซึ่งมีทิวทัศน์เห็นความเขียวขจีของยอดไม้และทิวดอยภูคา ที่ถูกยกให้เป็นหนึ่งในปอดของประเทศไทยที่น่าไปเยี่ยมชม นักท่องเที่ยวที่มาเยือน Cocoa Valley จึงไม่ใช่เพียงแค่ได้เที่ยวชมสวนเท่านั้น แต่ได้ทั้งการพักผ่อนที่มีคุณภาพ ความสนุกสนานในการได้ทำสิ่งแปลกใหม่ และการเรียนรู้วิถีชีวิตในชุมชนไปพร้อมกันด้วย

Cocoa Valley แห่งนี้ เป็นผลพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน ว่าการทำการเกษตรโดยไม่ลืมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลคนในชุมชนนั้น ไม่เพียงแค่จะทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้นเท่านั้น แต่ทว่ายิ่งส่งผลให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง เกิดความรักใคร่กลมเกลียว พึ่งพากันอย่างโอบอ้อมอารี ช่วยดูแลซึ่งกันและกัน และที่สำคัญยังก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในท้องถิ่นบ้านเกิดร่วมกันด้วย คำตอบของชีวิตที่ชายคนหนึ่งตามมานาน บัดนี้เขาได้ค้นพบคำตอบนั้นเรียบร้อยแล้ว

เผยแพร่ครั้งแรก วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2563