ยืนกิน…ก็ฟินได้ จุดขายร้านอาหารไร้เก้าอี้

ปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจร้านอาหารที่สำคัญเป็นอันดับแรกคือ คุณภาพและรสชาติของอาหาร ซึ่งจะทำให้ผู้คนอยากเดินทางไปลิ้มลองความอร่อย แม้จะไม่สะดวกสบายนักก็ตาม

ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจหากร้านอร่อยบางแห่งอยู่ในซอยลึกแค่ไหน ก็ยังมีคนดั้นด้นไปชิม หรือบางร้านมีพื้นที่จำกัดจำเขี่ยมาก ลูกค้าก็ยอมถือจานข้าวนั่งกินบนเก้าอี้ โดยไม่ต้องง้อโต๊ะ

แต่อีกเทรนด์ที่น่าสนใจคือ ร้านอาหารประเภทยืนกินก็ฟินได้ ซึ่งแพร่หลายในญี่ปุ่นมานานแล้ว และตอนนี้กำลังโด่งดังไกลในต่างแดน

ร้านสเต๊กสัญชาติญี่ปุ่น “อิคินาริ สเต๊ก” กำลังได้รับความนิยมจากผู้คนจำนวนมากในนิวยอร์กซิตี้ ที่ยอมต่อคิวยาวเหยียดเพื่อลิ้มลองสเต๊กสูตรเด็ด

ที่สำคัญ ร้านนี้ยังมีจุดขายอยู่ที่ไอเดีย “ยืนกิน” ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า จะใช้ได้กับอาหารประเภทสเต๊กที่มักคุ้นชินกับการนั่งกินแบบเป็นเรื่องเป็นราว ไม่เหมือนอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดที่เน้นความสะดวกรวดเร็ว

“รอยเตอร์ส” ระบุว่า แนวคิดยืนกินสเต๊กของร้านอิคินาริ ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น และทำรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถให้บริการลูกค้าได้มากขึ้น ซึ่งทางร้านหวังว่า ลูกค้าแต่ละคนจะใช้เวลากินอาหารราวๆ 30 นาที

นอกจากนี้ ทางร้านยังไม่จำหน่ายเมนูเรียกน้ำย่อย เช่น ผักโขมอบชีส รวมถึงไม่มีขนมหวานและกาแฟเหมือนร้านอื่นๆ เพราะไม่ต้องการให้ลูกค้าใช้เวลาอยู่ในร้านนานเกินไป

ไอเดียนี้ทำให้ในร้านมีเมนูอาหารเพียงหน้าเดียวเท่านั้น ลูกค้าสามารถสั่งสเต๊กที่มีให้เลือก 3 แบบ คือ ริบอาย เซอร์ลอยน์ และฟิลเลต์ จากนั้นก็เลือกว่าต้องการชิ้นเนื้อขนาดกี่ออนซ์

“จาค็อบ โนวัก” และภรรยา ซึ่งเดินทางไปอุดหนุนร้านอิคินาริ สเต๊ก ตั้งแต่ช่วงเช้า เลือกสั่งสเต๊กเซอร์ลอยน์ ขนาด 5 ออนซ์ ราคาอยู่ที่ 19 ดอลลาร์สหรัฐ เพราะเป็นอาหารมื้อเช้า จึงไม่อยากกินสเต๊กชิ้นใหญ่เกินไปนัก และพวกเขาก็ชื่นชอบรสชาติสเต๊กของร้าน

เช่นเดียวกับ “เอลี คีส์” ที่สั่งสเต๊ก พร้อมสลัด ซุป และข้าว ในราคา 20 ดอลลาร์ ซึ่งยอมรับว่าได้ประสบการณ์ดีๆ เพราะในขณะที่กินสเต๊ก ก็ได้ยืนออกกำลังกายไปด้วย

ร้านอิคินาริ สเต๊ก สามารถให้บริการลูกค้าได้ราวๆ วันละ 200 คน

“คูนิโอะ อิชิโนเสะ” ผู้ก่อตั้งร้านอิคินาริ สเต๊ก กล่าวว่า เขาต้องการจะสร้างวัฒนธรรมการยืนกินอาหารในนิวยอร์ก ซึ่งเคยมีคนบอกว่า ชาวอเมริกันไม่ต้องการกินสเต๊ก หากต้องยืนกิน เพราะเป็นเรื่องแปลก แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ไปแล้ว

อิชิโนเสะ บอกด้วยว่า เขาตั้งใจจะเปิดร้านสเต๊กแนวคิดยืนกินแบบนี้ในนิวยอร์ก 10 สาขา ภายในปีนี้ รวมถึงอยากจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นแนสแด็กให้ได้ภายในเวลา 3 ปี

อีกร้านที่น่าสนใจคือ “โอริ โน อิตาเลียน” ในย่านกินซ่าของกรุงโตเกียว ที่ระดมเชฟฝีมือดีคอยปรุงอาหารหรูๆ อย่างฟัวกรา และล็อบสเตอร์ พร้อมตกแต่งอย่างสวยงาม

แต่สิ่งเดียวที่ร้านนี้แตกต่างคือ ลูกค้าต้องยืนกิน

“เอบีซี นิวส์” ระบุว่า ภายในร้านโอริ โน อิตาเลียน ไม่มีเก้าอี้ให้นั่ง แต่ออกแบบให้ใกล้ชิดครัวแบบเปิด เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นขณะที่เชฟกำลังปรุงอาหารแบบสดใหม่

“ทาคาชิ ซาคาโมโต้” เจ้าของบริษัทโอริ โน คอร์ปอเรชั่น เจ้าของเชนร้านอาหารแบบยืนกิน อธิบายว่า ร้านของเขาเป็นระดับ “มิชลินสตาร์สำหรับคนทั่วไป” โดยเสิร์ฟอาหารระดับไฮเอนด์ ในราคาสบายกระเป๋า แต่แลกกับการไม่มีเก้าอี้

สำหรับราคาอาหารอิตาเลียนและฝรั่งเศสในเครือโอริ โน คอร์ปอเรชั่น เฉลี่ยอยู่ที่จานละ 40 ดอลลาร์ ซึ่งถูกกว่าเมื่อเทียบกับร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ที่ราคาอาจอยู่ที่ 100 ดอลลาร์

สูตรความสำเร็จของร้านนี้อยู่ที่ใช้พื้นที่น้อย ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการก็น้อย แต่อัตราหมุนเวียนของลูกค้ามากกว่า รวมถึงกำไรที่มากกว่า เมื่อเทียบกับร้านอาหารแบบนั่งกินทั่วไป

น่าสังเกตว่า อัตราการหมุนเวียนของลูกค้าในร้านแบบยืนกินมากกว่าร้านที่มีเก้าอี้นั่งราวๆ 4-5 เท่า

เทรนด์ยืนกินก็ฟินได้นี้เกิดขึ้นมานานแล้วในญี่ปุ่น โดยมีร้านอาหารหลากหลายสไตล์ ตั้งแต่ซูชิ ราเมน ไปจนถึงร้านอาหารสไตล์ตะวันตก

ร้านอาหารแบบยืนกินมักจะตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า และย่านใจกลางธุรกิจ สะดวกกินทั้งเวลาไปทำงานและกลับบ้าน

ข้อดีของร้านแบบนี้คือ ประหยัดพื้นที่ และการไม่มีเก้าอี้ ก็ทำให้ลูกค้าไม่สามารถอ้อยอิ่งอยู่ได้นาน ซึ่งหมายถึงอัตราการหมุนเวียนของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น และกำไรที่เพิ่มขึ้นตาม

เคล็ดลับความสำเร็จของร้านยืนกินในญี่ปุ่นอยู่ที่ความสะดวกสบาย ราคาที่จับต้องได้ บวกกับคุณภาพอาหารที่ดี

ร้านยืนกินส่วนใหญ่จะเน้นลูกค้ากลุ่มพนักงานออฟฟิศ ที่มักจะทำงานเกินเวลา รวมถึงหนุ่มโสดที่ไม่มีแรง หรือไม่ได้ชื่นชอบการทำอาหารกินเองที่บ้าน

 

ที่มาภาพ

http://newyorkcityinformer.com

https://cdn3.vox-cdn.com

http://asia.nikkei.com

http://www.japantimes.co.jp