เกาะติดเทรนด์ร้อน ปี 2017 ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคไฮเทค

มิสมิลเลียนแนร์ คอลัมนิสต์ยอดนิยม แห่งนิตยสาร “เส้นทางเศรษฐี”  นำเสนอ 5 เทรนด์ร้อนที่สะท้อนทิศทางความต้องการของผู้บริโภคในปี 2560 ซึ่งหากใครเข้าใจเทรนด์เหล่านี้ก็มีโอกาสที่จะคิดค้นสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์มากขึ้น รวมทั้งออกตัวนำหน้าคนอื่นๆ

โดยคัดตอนมาจาก เว็บไซต์เทรนด์วอตชิ่งดอตคอม ที่ระบุว่า เทรนด์แรกที่จะเกิดขึ้นคือ เศรษฐกิจที่มุ่งเน้นประสบการณ์เสมือนจริง ซึ่งเทคโนโลยีได้พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเทคโนโลยีเสมือนจริง (Virtual Reality-VR) ที่จำลองสภาพแวดล้อมจริงเข้าไว้ในหน้าจอ รวมถึงเทคโนโลยีที่ผสานสภาพแวดล้อมจริงเข้ากับวัตถุเสมือน (Augmented Reality-AR) ทำให้การสร้างประสบการณ์บนโลกดิจิตอลได้รับความสนใจใกล้เคียงกับประสบการณ์ในโลกแห่งความจริงที่ผู้บริโภคเคยปลาบปลื้มมาตลอดหลายสิบปี

ที่ผ่านมา เศรษฐกิจที่มุ่งสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภคได้รับความสนใจมาตลอด ยกตัวอย่าง ราคาตั๋วชมคอนเสิร์ตโดยเฉลี่ยระหว่างปี 2524-2555 เพิ่มขึ้นกว่า 400 เปอร์เซ็นต์ เพราะผู้คนยอมจ่ายเพื่อแลกกับประสบการณ์ดีๆ ที่เติมเต็มชีวิต

แต่การสร้างสรรค์ประสบการณ์ก็กำลังเปลี่ยนไป เมื่อเดือนตุลาคม วงดนตรี “แอ็บบ้า” จากสวีเดน ที่เคยโด่งดังในอดีต ได้ออกมาประกาศจับมือกับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ เพื่อสร้างประสบการณ์ทางดนตรีใหม่ๆ ผ่านเทคโนโลยีผสานโลกจริงและโลกเสมือนในคอนเสิร์ตที่จะมีขึ้นในปี 2561

trend1

รวมถึงกรณีของ “อาลีบาบา” เว็บไซต์ขายสินค้ารายใหญ่ของจีน ที่เพิ่งประยุกต์เทคโนโลยีเสมือนจริง ทั้ง VR และ AR มาใช้สร้างประสบการณ์การช็อปปิ้ง เช่น บริการ “บายพลัส” หากผู้บริโภคสวมแว่นตาเสมือน ก็จะให้ความรู้สึกเหมือนได้เข้าไปท่องในห้างสรรพสินค้าจริงๆ และสามารถซื้อสินค้าที่สนใจได้ในโลกเสมือนที่จำลองขึ้น

ในปีนี้ อาลีบาบาสามารถสร้างประวัติศาสตร์ยอดขายในวันคนโสดของจีน (11 พฤศจิกายน) ซึ่งเป็นมหกรรมช็อปปิ้งออนไลน์ครั้งใหญ่สุดระดับโลก โดยกวาดยอดขายได้มากถึง 1.78 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในวันเดียว

เทรนด์ที่ 2 คือ ผสานโลกที่แตกแยก หลังจากเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นชัยชนะของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่มีท่าทีแข็งกร้าวต่อชาวมุสลิม ผู้อพยพ รวมถึงเพื่อนบ้านเม็กซิโก ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ที่ไม่พอใจสหรัฐอย่างชัดเจน จนถึงการโหวตถอนตัวจากสหภาพยุโรปของชาวอังกฤษ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลก

นี่เป็นโอกาสที่แบรนด์จะสร้างสรรค์แคมเปญที่ทำให้ผู้คนเข้าใจกันมากขึ้น ท่ามกลาง 2 ขั้วความคิด ระหว่างการเป็นพลเมืองของโลกและความเป็นชาตินิยม

trend3

อย่างกรณี “โมมอนโด” (Momondo) เว็บไซต์ท่องเที่ยวของเดนมาร์ก ที่ทำคลิปวิดีโอสะท้อนความหลากหลายทางเชื้อชาติที่ซ่อนอยู่ในแต่ละบุคคล ซึ่งระหว่างเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน มีผู้ชมแล้วกว่า 12 ล้านครั้ง

ส่วน “ไทเกอร์ เบียร์” ผุดร้านแบบป๊อปอัพที่ย่านไชน่าทาวน์ของนิวยอร์ก เพื่อบอกเล่าความเป็นเอเชีย ผ่านสินค้าต่างๆ ที่เป็นผลงานศิลปะ แฟชั่น การออกแบบ และเทคโนโลยีต่างๆ ของศิลปินทั่วเอเชียกว่า 700 คน

เชนกาแฟอเมริกัน “สตาร์บัคส์” ก็เปิดตัวแคมเปญ Up Standers ที่สะท้อนการทำงานของคนตัวเล็กๆ ในชุมชนต่างๆ ทั่วสหรัฐ ทั้งเพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้าน ผู้ป่วยออทิสติก ขยะอาหาร โดยหวังให้คนอเมริกันกลับมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันท่ามกลางการหาเสียงที่ดุเดือด

เทรนด์ที่ 3 ไม่เปิดเผยตัวตน เนื่องจากผู้บริโภคกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ที่ไม่ขึ้นกับเรื่องประชากรศาสตร์ คนเหล่านี้สร้างอัตลักษณ์และพฤติกรรมในแบบของตัวเอง การใช้ข้อมูลประชากรศาสตร์แบบเดิมๆ มาแบ่งหมวดผู้บริโภคใช้ไม่ได้ผลเหมือนเคย นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาที่พบว่า คนขับแท็กซี่ที่ใช้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นอูเบอร์และลิฟต์ มีแนวโน้มจะยกเลิกคำสั่งเดินทางของลูกค้าที่ชื่อบ่งบอกว่าอาจเป็นคนผิวสี

ตัวอย่างที่สะท้อนเทรนด์นี้ คือ Interviewing.io ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาใช้เกี่ยวกับการสัมภาษณ์งาน ที่จะช่วยปกปิดเสียงของทั้งผู้สัมภาษณ์และผู้ถูกสัมภาษณ์ เพื่อหลีกเลี่ยงอคติในระหว่างการสัมภาษณ์ ดังนั้น หากแบรนด์ สินค้า และบริการต่างๆ สามารถคิดค้นตัวช่วยเรื่องนี้ได้ ก็จะทำให้ผู้บริโภคมีความสะดวกใจมากขึ้น

trend7

เทรนด์ที่ 4 ขีดความสามารถเหนือความคาดหวัง โดยขยายจากแนวคิดในเรื่องความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น นิสสัน ที่คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคที่ใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้า นิสสัน ลีฟ และ e-NV200 ในอังกฤษ สามารถขายพลังงานส่วนเกินที่รถผลิตได้ให้แก่โครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติของอังกฤษ

อีกโครงการที่น่าสนใจคือ ความริเริ่มของธนาคารอาหาร บังโก เดอ อาลิเมนโตส ในนครเซาเปาโลของบราซิล ที่ใช้ประโยชน์จากการขนส่งของรถดีลิเวอรี่สินค้า เพื่อนำอาหารที่ลูกค้าบริจาคกลับมาไว้ที่ร้านอาหาร ซึ่งธนาคารจะมารับไปแจกจ่ายให้ผู้ที่ต้องการอีกทอดหนึ่ง

เทรนด์สุดท้าย นวัตกรรมจากแบรนด์พี่ใหญ่ ที่จะมีส่วนผลักดันสินค้าและบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “กูเกิล โฮม” ที่ตอบสนองคำสั่งเสียงในการเชื่อมต่อกับอีเมล ปฏิทิน ไฟล์งาน ภาพ เพื่อตรวจสอบการนัดหมายและรายการสินค้าที่ต้องซื้อ รวมถึงสอบถามข้อมูลสภาพอากาศ การจราจร การแข่งขันกีฬา และเชื่อมต่อกับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ในบ้าน

 trend8

อีกกรณีที่น่าสนใจ คือ Roobo ผู้ผลิตหุ่นยนต์สัตว์เลี้ยงสัญชาติจีน ที่คลอด “ด็อมกี” (Domgy) หุ่นยนต์คล้ายสุนัข ที่มีเทคโนโลยีจดจำใบหน้าสมาชิกในครอบครัว และสามารถเล่นเพลงหรือภาพยนตร์เรื่องที่ชอบ

 

ที่มาภาพ

 http://i2.cdn.turner.com http://www.diorama.com/

https://cdnprodmomondo.blob.core.windows.net/

http://pic.accessify

http://electriccarsreport.com/