ขี้เถ้าแกลบชะลอผลไม้สุก-ไรซ์เบอร์รี่ช็อคโกครัน คว้ารางวัลนวัตกรรมข้าวไทย 2559

วันที่ 4 ตุลาคม มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)(สนช.) ประกาศผล “รางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ประจำปี 2559” เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมข้าวของประเทศไทยตลอดทั้งห่วงโซ่ ตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไปจนถึงระดับอุตสาหกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง

นายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทยในปีนี้ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ระดับอุตสาหกรรม และระดับวิสาหกิจชุมชน ผู้ที่ได้รับรางวัลที่ 1 จะได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 80,000 บาท รางวัลที่ 2 เงินรางวัล 40,000 บาท รางวัลที่ 3 เงินรางวัล 20,000 บาท และรางวัลชมเชย เงินรางวัล 10,000 บาท 2 รางวัล

“ผลการประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทยประจำปี 2559 ผลงานที่ได้รับรางวัลขนะเลิศระดับอุตสาหกรรม ได้แก่ โครงการ “ขี้เถ้าแกลบเสริมฤทธิ์การชะลอการสุกของผลไม้” ของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ร่วมกับบริษัท โรงสีข้าว ต.ประเสริฐ อุตรดิตถ์ จำกัด ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมระดับโลกด้านผลิตภัณฑ์ขี้เถ้าแกลบเสริมฤทธิ์การชะลอการสุกของผลไม้ด้วยการปรับปรุงคุณสมบัติความเป็นรูพรุนของขี้เถ้าแกลบ โดยการใช้สาร Glycerol เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจับสารในรูพรุน และการใช้สารที่สามารถกักเก็บได้ในรูพรุนขี้เถ้าแกลบ จึงช่วยชะลอการสุกของผลไม้ได้ จากการศึกษาพบว่าสามารถชะลอการสุกของกล้วยหอมได้ 2 สัปดาห์ ชะลอการสุกของทุเรียนได้ 2 สัปดาห์ และชะลอการสุกของลางสาดได้ 1 สัปดาห์ เป็นต้น โดยจะเน้นกลุ่มเป้าหมายหลักคือกลุ่มผู้ส่งออกผลไม้ และเกษตรกร รวมทั้งการส่งจำหน่ายปลีกตามห้างและร้านค้าปลีก เพื่อกลุ่มผู้บริโภคผลไม้ ที่ต้องการเก็บไว้ได้นานโดยไม่ใส่ตู้เย็น”นายสุเมธ กล่าว

ประธานมูลนิธิข้าวไทย กล่าวว่า สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลขนะเลิศระดับวิสาหกิจชุมชน ได้แก่ โครงการ “ไรซ์เบอร์รี่ช็อคโกครัน” อาหารเช้าจากข้าวไทย ของวิสาหกิจชุมชนบ้านท่าทอง ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม โดยเป็นนวัตกรรมระดับประเทศด้านผลิตภัณฑ์ช็อคโกครันอาหารเช้าจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ โดยการนำข้าวไรซ์เบอร์รี่มาผ่านกระบวนการให้ความร้อนทำให้เกิดกระบวนการเจลาติไนซ์ ด้วยปริมาณอะไมโลสสูงทำให้เม็ดข้าวแยกตัวออกจากกัน จากนั้นนำไปลดความชื้นและอบให้เกิดการพองตัว จากนั้นนำไปเคลือบผิวด้วยช็อคโกแลตเพื่อรักษาความกรอบของผลิตภัณฑ์ ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ที่เข้ามาตอบสนองความต้องการของตลาดผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน

นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า การนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาประยุกต์ใช้กับผลผลิตด้านการเกษตรโดยเฉพาะ ข้าว สามารถสร้างให้เกิดเป็นธุรกิจใหม่ ตลาดใหม่ และแหล่งรายได้ใหม่ที่มากยิ่งขึ้น ลดโอกาสความผันผวนของราคา เนื่องจากไม่จำเป็นต้องขายในรูปของข้าวสารเพียงอย่างเดียว แต่สามารถจำหน่ายให้ผู้ผลิตสินค้านวัตกรรม ในฐานะที่ข้าวเป็นวัตถุดิบสินค้านวัตกรรม ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างทางเลือกในการจำหน่ายผลผลิตให้กับเกษตรกร และหากมีการจัดการที่ดี เกษตรกรก็ยังสามารถทำความตกลงกับผู้ผลิตสินค้านวัตกรรม เพื่อส่งมอบผลผลิตที่มีคุณสมบัติตามต้องการ ยิ่งมีการพัฒนานวัตกรรมข้าวไทยมากเท่าไหร่ เกษตรกรไทยยิ่งมีโอกาสและทางเลือกมากขึ้นเท่านั้นแต่ไม่ได้หมายถึงประเทศไทยควรยกเลิกการส่งออกข้าวสาร แล้วไปทำส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูปอย่างเดียว เพราะจะกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศได้

 

ที่มา มติชนออนไลน์