ข้าวเม่า ขนมโบราณเงินล้าน ของกลุ่มแม่บ้านฯ บ้านห้วยไม้ซอด บึงกาฬ

ข้าวเม่า มีลักษณะเฉพาะตัวที่มีความหอม มีสีเขียวธรรมชาติของเมล็ดข้าว คุณค่าทางอาหารคล้ายกับข้าวกล้อง เป็นข้าวที่ยังไม่สีเอารำออก จึงมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอยู่ครบถ้วน

เป็นอาหารพื้นบ้าน ชนิดที่สามารถนำมาผสมนมสด รับประทานเช่นเดียวกับอาหารเช้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีกลิ่นหอมรสชาติอร่อย และคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะวิตามินบี ธาตุเหล็ก และฟอสฟอรัส ส่งผลดีต่อสุขภาพทำให้สุขภาพจิตดี มีความตื่นตัว มีสมาธิสูง ช่วยปรับระดับกลูโคสและสารอาหารรองในสมอง ช่วยให้ระบบการทำงานของสมองดี

ก่อนที่ขนมโบราณชิ้นนี้จะถูกลืม ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่คงสืบทอดภูมิปัญญานี้ไว้เรื่อยมา หนึ่งในนั้นคือ “กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านห้วยไม้ซอด” อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ ที่ยังคงผลิตข้าวเม่าอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่การแปรรูปจากข้าวเมนูนี้ยังคงอยู่

บ้านห้วยไม้ซอด เป็นหมู่บ้านเล็กๆ กลางท้องทุ่งในอำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ  ที่ขึ้นชื่อในการผลิต”ข้าวเม่า”มานาน เรียกได้ว่าเป็นชุมชนผลิตข้าวเม่ารายใหญ่แห่งดินแดนอีสาน

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านห้วยไม้ซอด ตั้งอยู่เลขที่ 57 หมู่ที่ 9  ตำบลปากคาด อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ มีคุณบุญมี หลานท้าว ทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่ม จำนวน 30 ราย

คุณบุญมี กล่าวว่า “ข้าวเม่า” สำหรับคนอีสานคงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก แต่ถ้าพูดถึงขั้นตอนการทำข้าวเม่า แล้วน้อยคนนักที่จะได้เห็นจนครบกระบวนการ เพราะ ข้าวเม่าไม่ใช่อาหารที่ได้มาแบบง่ายๆ และรวดเร็ว  การจะทำข้าวเม่าแต่ละครั้งต้องลงทุนลงแรงกันเป็นวันสองวันกว่าจะได้กิน

คุณบุญมี หลานท้าว

การทำข้าวเม่าต้องใช้เวลาและแรงงานคนจำนวนมาก ซึ่งวิธีการทำข้าวเม่าของชาวบ้านในภาคอีสานมีมานานตั้งแต่บรรพบุรุษแล้ว เพราะว่าชาวอีสานนิยมรับประทานข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก จึงรู้จักวิธีการแปรรูปข้าวมาเป็นขนม และอาหาร

การทำข้าวเม่าจะใช้ข้าวที่ปลูกตามฤดูกาล ได้แก่ ข้าวนาปรัง ข้าวนาปี และข้าวไร่  ถ้าเป็นข้าวนาปรังช่วงระยะเวลาที่จะนำมาทำเป็นข้าวเม่าได้ก็จะประมาณเดือนมีนาคม – เมษายน ส่วนข้าวไร่จะเป็นช่วงเดือนกันยายน ส่วนข้าวนาปีช่วงระยะเวลาที่จะนำมาทำเป็นข้าวเม่าได้จะมีอยู่สองช่วง เพราะชาวบ้านจะปลูกอยู่สองประเภท

ประเภทที่หนึ่ง คือ ข้าวหนัก ชาวอีสานเรียกกันว่าข้าวงัน เป็นข้าวที่ออกรวงช้า กินเวลาตั้งแต่ดำจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณสี่เดือน จะทำข้าวเม่าได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน

ประเภทที่สอง คือ ข้าวเบา ชาวอีสานเรียกว่าข้าวดอ เป็นข้าวที่ออกรวงเร็วในเวลาตั้งแต่ดำจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณสามเดือน จะทำข้าวเม่าได้ในช่วงเดือนตุลาคม

ข้าวเม่าสด

การรวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่ม การผลิตข้าวเม่า แห่งบ้านห้วยไม้ซอดนี้ เริ่มจาก คุณสมจิตร และ คุณบุญมี หลานท้าว สองสามีภรรยา ที่สืบต่อการทำข้าวเม่ามาจากรุ่นแม่ มาทำเก็บไว้รับประทานกันเองภายในครอบครัว

ระยะหลังได้ลองนำไปขายในตลาด ได้ความความสนใจจากลูกค้า คุณบุญมีจึงเริ่มทำให้ลูกๆ ไปนั่งขายในตลาดปากคาด แต่ก็ไม่ได้ขายจำนวนมาก หรือออกขายเป็นประจำเท่าใดนัก เนื่องจากในสมัยก่อนมีแต่นาปี สามารถเก็บข้าวมาผลิตได้ปีละครั้งเท่านั้น

ข้าวเม่าจะใช้ข้าวที่ไม่แก่เกินไปจากต้นมาคั่วให้หอมและใส่ครกใช้มือตำ ซึ่งต้องอาศัยเวลานานและแรงงานมาก  ต่อมาเริ่มมีการทำนาปลังมากขึ้น ทำให้สามารถผลิตข้าวเม่าได้ต่อเนื่อง คุณสมจิตรจึงคิดหาวิธีทุ่นแรง หันมาตำข้าวเม่าจากครกกระเดื่องใช้เท้าเหยียบแทน แต่ถึงอย่างนั้นการผลิตข้าวเม่าก็ยังดูล่าช้าไม่ทันขาย

ข้าวเปลือก
ข้าวเม่าคลุกปรุงสำเร็จ

ปี 2525 คุณบุญมี กู้เงินจำนวนหนึ่งนำมาซื้อรถไถเดินตามช่วยทุ่นแรงแทนควาย คุณสมจิตรเห็นว่าหลังจากดำนาเสร็จแล้วรถไถคันนี้น่าจะใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ จึงหาอะไหล่มาประกอบ ดัดแปลงเป็นเครื่องตำข้าวทุ่นแรงได้มาก และสามารถผลิตเพื่อที่จะส่งขายต่างอำเภอ ต่างจังหวัด บรรดาลูกหลาน ญาติพี่น้อง และชาวบ้านใกล้เคียงต่างสนใจหันมาศึกษาเรียนรู้วิธีการจนกลายเป็นอาชีพเสริมของชุมชน

สมาชิกกลุ่ม โชว์หลากหลายผลิตภัณฑ์

ไม่กี่ปีถัดมาคุณสมจิตร ได้ดัดแปลงเป็นเครื่องเป่าร่อนแกลบและรำข้าวด้วยเพลาของเครื่องยนต์ตัวเดิมได้สำเร็จอีกหนึ่งชิ้น สามารถช่วยทุ่นแรงคนในการร่อนข้าวหลังจากตำเสร็จ นอกจากนี้ยังประยุกต์ทำเครื่องคั่วข้าวเม่าได้อีก ประหยัดเวลา แรงงานมากกว่าอดีตหลายเท่า

ข้าวเม่ากระยาสาท

เมื่อมีกำลังการผลิตมาก ก็ส่งผลสู่การขยายตลาดได้มากขึ้น  ชาวบ้านจึงรวมตัวกันกว่า 25 ชีวิต จัดตั้งเป็นกลุ่มโดยได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานเกษตรอำเภอปากคาดเป็นผู้เสนอกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้ออกหนังสือรับรอง  ซึ่งกวาดรางวัลด้านการถนอมและแปรรูปอาหารมากมาย

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านห้วยไม้ซอด ดำเนินการผลิตภัณฑ์ข้าวเม่าคลุกปรุงสำเร็จรูป ข้าวเมาอบแห้ง ข้าวเมากระยาสาท ข้าวเม่าหมี่อบสมุนไพร ข้าวเม่าสูตรโบราณ ข้าวแต๋นน้ำแตงโมง

สมาชิกกลุ่มจะออกเร่ขายตามหมู่บ้านและตลาดนัดของอำเภอและจังหวัดใกล้เคียง  เป็นตัวแทนของอำเภอและจังหวัดไปแสดงสินค้าในบางโอกาส ได้ออกร้านในงานกาชาดทุกจังหวัดทั่วภาคอีสานและภาคกลางบางส่วน

ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์