แม่ค้าตลาดนัด ผุดไอเดียทำ “เห็ดนางฟ้าทอดกรอบ” สร้างรายได้กว่า 6 แสนต่อเดือน

แม่ค้าตลาดนัด ผุดไอเดียทำ “เห็ดนางฟ้าทอดกรอบ” สร้างรายได้กว่า 6 แสนต่อเดือน

เห็ดนางฟ้าทอดกรอบ – ปัจจุบันคนรุ่นใหม่อยากทำอาชีพที่เป็นนายตัวเองกันมากขึ้น แต่ปัญหาที่พบเจอแบบเดียวกันคือ ไม่รู้จะเริ่มหรือขายอะไร จึงปักหมุดหันมาขายอาหารกันไว้ก่อน ไม่ว่าจะข้าวปลาอาหารคาวหวาน เครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว หรืออาหารแปรรูป จึงทำให้อุตสาหกรรมอาหาร เป็นตลาดที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูงมากตลาดหนึ่ง

“ผลิตภัณฑ์เห็ดนางฟ้าทอดกรอบ” แบรนด์ “Veget  Crisp” (เวจเจท คริสฟ) ของคุณบุษญพรรณ วงษ์พิไลวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวจเจทฟู๊ด จำกัด เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้คัดเลือกให้ได้ Product Champions ปี 2019 ของ ม.สงขลานครินทร์  ก็เป็นอีกหนึ่งเจ้า ที่ก้าวเข้ามาจับธุรกิจอาหาร โดยเห็ดนางฟ้าทอดกรอบของคุณบุษญพรรณ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกยกระดับโดยเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการนำเทคโนโลยีการผนึกภาชนะขนาดเล็ก (ถ้วย) มาใช้ เธอเล่าถึงจุดกำเนิดสินค้า กับ “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” ว่า

คุณบุษญพรรณ วงษ์พิไลวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวจเจทฟู๊ด จำกัด เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้คัดเลือกให้ได้ Product Champions ปี 2019 ของ ม.สงขลานครินทร์

ผลิตภัณฑ์เห็ดนางฟ้าทอดกรอบ ได้แรงบันดาลใจมาจาก ครอบครัวของเธอซื้อเห็ดนางฟ้าก้อนมาปลูกผสมผสานกับการทำเกษตรกรรมกรีดยาง บนที่ดินประมาณ 1 ไร่ ที่มีการปลูกผสมผสานกับพืชผักต่างๆ เช่น พริก ตะไคร้ ข่า คะน้า ผักกาด ผักบุ้ง มะเขือ ฯลฯ ต่อมามีการขยับขยาย ทำเป็นโรงเรือนเล็กๆ และเริ่มปลูก 200 ก้อน เมื่อเห็ดนางฟ้างอกงาม ประกอบกับลูกชายไม่ชอบทาน เธอจึงนำเห็ดนางฟ้ามาชุบแป้งทอดทำให้ลูกชายได้ทาน แล้วลูกชอบ จึงพัฒนาเพิ่มมูลค่า นำเห็ดนางฟ้าที่ปลูกไว้ มาทอดขายตามตลาดนัด

เหมือนกิจการขายเห็ดนางฟ้าทอดจะเป็นไปได้ด้วยดี แต่ก็ประสบปัญหาใหญ่ คือเห็ดนางฟ้าทอดเป็นอาหารที่อมน้ำมัน เธอจึงคิดหาวิธีผสมแป้งต่างๆ เพื่อให้ทอดกับเห็ดแล้วไม่ให้อมน้ำมัน รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้ผงชูรส จากนั้นก็มีการเพิ่มไลน์ผลิตภัณฑ์อื่นๆ เข้ามา จากที่มีเห็ดนางฟ้าทอดเพียงอย่างเดียว ก็มีการนำใบบัวบก ตำลึง ผักขมมาทอด จึงเกิดเป็นไอเดียนำผักต่างๆ มาทอดจำหน่าย และคิดพัฒนาสูตรแป้งทอดอย่างจริงจัง เพื่อให้ทำการตลาดได้ยั่งยืน สามารถขายได้ทุกๆ ฤดูกาล

“พี่ใช้เวลาพัฒนาสูตรแป้งทอด 1 ปี จึงได้สูตรแป้งที่ทอดแล้วไม่อมน้ำมัน สามารถเก็บไว้ได้นาน 6- 8 ชั่วโมง แต่ปัญหามันก็ยังมีอยู่ คือ ในช่วงหน้าฝน พี่ก็ขายได้น้อย พอเห็นป้ายประกาศรับเอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ สสว. เลยไปสมัครเข้าร่วมโครงการ ซึ่งเขามีผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้ทั้งการทำการตลาด พัฒนาสินค้า ทำหีบห่อ สอนเรื่องการยืดอายุสินค้า สอนว่าต้องเก็บสินค้าในบรรจุภัณฑ์และเก็บรักษาอย่างไรได้นาน เมื่อก่อนแป้งทอดเห็ดนางฟ้าของพี่หนามาก อีกทั้งมีผัก 7 ชนิด เช่น เผือก มัน เห็ดนางฟ้า ใบบัวบก ชะพลู ดอกอัญชัน ที่เราเอามาทอดขาย แต่อาจารย์แนะนำว่า ถ้าจะตีตลาดจริงๆ ควรโฟกัสที่จุดเดียว คือทำสินค้าตัวเดียวออกมาก่อน เพื่อให้เรามีการทุ่มเทและพัฒนามันอย่างเต็มที่” สาวพัทลุง เจ้าของผลิตภัณฑ์ กล่าว

เมื่อได้เรียนรู้ดังนั้น เธอจึงคัดเลือกพัฒนาเห็ดนางฟ้า 3 สายพันธุ์ ได้แก่ เห็ดพันธุ์ภูฏาน เห็ดนางฟ้าดำ และเห็ดฮังการี ที่มีคุณสมบัติพิเศษตรงกันทั้ง 3 สายพันธุ์คือ มีความหวานของเห็ด เหนียวนุ่ม อีกทั้งเมื่อทอดแล้วมีสีเหลืองทองน่ารับประทาน ส่วนปัญหาเรื่องความหนา เธอกล่าวว่า ใช้นวัตกรรม “สลัดแป้งออก” ก่อนทอด เพื่อให้เห็ดนางฟ้ามีความบางกรอบน่ารับประทาน

“นวัตกรรมสลัดก่อนทอด ได้คำแนะนำจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สลัดก่อนทอดเพื่อให้แป้งบางกรอบ ไม่อมน้ำมัน กินแล้วยังมีผิวสัมผัสของเห็ดและรสชาติยังมีความหวานของเห็ดอยู่ อีกทั้งอาจารย์ช่วยเปลี่ยนจากถุงธรรมดาเป็นถุงอะลูมิเนียมฟอยล์ อัดกับก๊าซไนโตรเจนในขั้นตอนการแพ็ก ทำให้เก็บเห็ดได้นานถึง 6 เดือน” คุณบุษญพรรณ ว่ามาอย่างนั้น

ด้วยข้อจำกัดด้านการออกผลผลิตของเห็ดนางฟ้า วัตถุดิบหลักที่มีมากช่วงหน้าฝน ในช่วงหน้าร้อน คุณบุษญพรรณจึงเปลี่ยนมาใช้เห็ดชนิดอื่นแทน เช่น เห็ดหูหนู เข็มทอง ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนพัฒนาเห็ดหอมอยู่ อีกทั้งเธอยังเปิดโรงงานเป็นแหล่งเรียนรู้ การทำก้อนเห็ดนางฟ้า ให้ชาวบ้านมาดูงาน จดสูตรเพาะเห็ด ใครสนใจมีทุนมาทดลองทำงานที่โรงงานได้ ถือเป็นการให้อาชีพ ถือเป็นรายได้เสริมจากอาชีพหลักคือการกรีดยางของชาวบ้าน

“พี่สนับสนุนและส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกเห็ดนางฟ้าและนำมาส่งที่โรงงานของพี่ ซึ่งพี่มีการประกันรายได้จำหน่ายเห็ดนางฟ้าให้เขาด้วย ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 65 บาท เป็นการจ่ายเงินสดเพื่อให้ชาวบ้านได้มีเงินใช้จ่ายหมุนวียน ทำแบบนี้มาได้ประมาณ 5 ปี ตอนนี้ก็สามารถช่วยเหลือชาวบ้านได้มากกว่า 20 ครัวเรือนในหลายชุมชน แล้วก็มีการคุยกับกำนันผู้ใหญ่บ้านที่ดอนทราย ให้ชาวบ้านสร้างโรงเรือนเพื่อปลูกเห็ดนางฟ้าแบบออร์แกนิก ส่งขายให้พี่เพื่อเข้าโรงงาน วันละ 100-200 กิโลกรัม ก็ถือว่าช่วยๆ กันไป เขามีอาชีพ มีรายได้ เราก็อยู่ได้ด้วย ตอนนี้เราสามารถบุกตลาดออสเตรเลีย ไทย จีน ฮ่องกง และ มาเลเซีย ได้แล้ว และสามารถทำรายได้ให้กลุ่มถึง 600,000 บาท ต่อเดือน ทีเดียวค่ะ” คุณบุษญพรรณ กล่าวทิ้งท้าย

ผลิตภัณฑ์เห็ดนางฟ้าทอดกรอบ วางจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ อเมซอน และวางจำหน่ายที่ห้างสรรพสินค้า หากใครสนใจ สามารถสอบถามได้ที่ เพจ : เห็ดทอดอบกรอบ Veget Crisp Thailand