JobThai เผย “EEC” ต้องการแรงงาน 8,500 อัตรา ชลบุรีครองแชมป์ต้องการคนทำงานมากที่สุด

“จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com)” เผยดีมานด์งานในเขตพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ในโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor-EEC) ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล พบว่ามีความต้องการแรงงานรวมกันกว่า 8,500 อัตรา

“แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์” ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการเว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ดำเนินโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อส่งเสริมให้ 3 จังหวัดในภาคตะวันออกเป็นพื้นที่นำร่องในการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างก้าวกระโดดของภูมิภาค โดยพื้นที่ใน 3 จังหวัดประกอบด้วยชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งล้วนเป็นจังหวัดที่เป็นฐานที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมและเป็นฐานการผลิตที่สำคัญหลายอย่าง

ไม่ว่าจะเป็นการผลิตปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ประกอบกับทำเลที่ตั้งมีความได้เปรียบเนื่องจากถูกเชื่อมโยงด้วยโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งที่สะดวก ด้วยปัจจัยที่เอื้ออำนวยเหล่านี้ทำให้พื้นที่ใน 3 จังหวัด เหมาะที่จะพัฒนาให้กลายเป็นพื้นที่สำคัญในการนำร่องขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการแรงงานในพื้นที่ดังกล่าวมีการขยายตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

ด้วยเหตุนี้ จ๊อบไทยดอทคอม ในฐานะเว็บไซต์หางาน สมัครงานอันดับ 1 ของประเทศไทย ที่มีผู้ลงทะเบียนใช้งานกว่า 1.2 ล้านคน รวมถึงมีจำนวนงานจากบริษัทชั้นนำต่างๆ อีกกว่า 86,000 อัตรา เล็งเห็นความต้องการแรงงานใน 3 จังหวัดดังกล่าว พบว่ามีความต้องการรวมกันกว่า 8,500 อัตรา โดยจังหวัดชลบุรี มีความต้องการแรงงานมากที่สุดถึง 4,480 อัตรา ตามมาด้วย จังหวัดระยอง 2,534 อัตรา และจังหวัดฉะเชิงเทรา 1,474 อัตรา

ทั้งนี้เมื่อดูข้อมูลความต้องการแรงงานภาพรวมของ 3 จังหวัด พบว่ามีประเภทงานที่ต้องการแรงงานมากที่สุด 5 อันดับแรก ดังนี้
1.งานผลิต/ควบคุมคุณภาพ จำนวน 1,499 อัตรา
2.งานวิศวกรรม จำนวน 967 อัตรา
3.งานขาย จำนวน 795 อัตรา
4.งานโลจิสติกส์และซัพพลายเชน จำนวน 433 อัตรา
5.งานบัญชี/การเงิน 348 อัตรา

ทั้งนี้สายงานที่เกี่ยวข้องกับด้านอุตสาหกรรม ถือเป็นสายงานที่มีความต้องการแรงงานสูงอยู่ตลอดเวลา แต่ในปัจจุบันพบว่าแรงงานในกลุ่มนี้ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการอีกด้วย

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์